ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนทำงานในปัจจุบัน ไม่ว่าเป็นนั่งพิมพ์คอมพ์นานๆ สะพายกระเป๋า โหนรถไฟฟ้า ขับรถในสภาวะรถติด หรือแม้แต่การเล่นกีฬาที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของหัวไหล่ เช่น แบดมินตัน เทนนิส และอื่นๆ อีกมากมาย เหล่านี้ถ้ายังปฏิบัติสะสมไปนานๆ พอวัยเริ่มขึ้นต้นเลข 4 อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพสะสมที่เรียกว่า “ภาวะหัวไหล่ติด” ได้ไม่ยาก
แพทย์อายุรเวท วิภาพร สายศรี ศูนย์รักษาไมเกรนและโรคปวดกล้ามเนื้อ ดอกเตอร์แคร์ กล่าวว่า ภาวะหัวไหล่ติด เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อหุ้มข้อไหล่ ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหัวไหล่ ซึ่งอาจมีอาการเจ็บอยู่หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน เมื่ออาการปวดทุเลาลงแขนข้างที่ปวดจะไม่สามารถยกแขนได้เหมือนเดิม และเมื่อไม่เคลื่อนไหวข้อไหล่ในช่วงระยะหนึ่ง ก็จะเกิดเยื่อพังผืดและหินปูนแทรกในข้อและเนื้อเยื่อรอบหัวไหล่ ถ้าเคลื่อนไหวข้อไหล่จะปวดมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณไหล่อ่อนแรงและลีบลง ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะไหล่ติดได้อย่างชัดเจน
อาการของภาวะไหล่ติด
พญ.วิภาพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีอาการของภาวะไหล่ติดอาจใช้เวลาสะสมอาการนานถึง 2-3 ปี แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.ระยะปวด ประมาณ 1-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อไหล่โดยเฉพาะเวลากลางคืน บางคนปวดมากจนสะดุ้งตื่นกลางดึกจากการนอนกดทับข้างที่ปวดเป็นเวลานาน
2.ระยะข้อไหล่ติด ประมาณ 16 เดือน อาการเจ็บลดลง แต่หัวไหล่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ โดยจะมีอาการปวดแบบเฉียบพลัน เช่น เวลาเหยียดแขนขึ้นไปหยิบของเหนือศีรษะ, เอื้อมมือไปหยิบของที่เบาะหลังรถ, เมื่อหมุนพวงมาลัยรถ, เมื่อสระผมหรือถูหลังตัวเองเวลาอาบน้ำ, เมื่อสวมหรือถอดเสื้อยืดเข้าออกทางศีรษะ ฯลฯ ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่สามารถขยับหัวไหล่ได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยบางคนกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ลีบผิดรูปได้
3.ระยะฟื้นตัวประมาณ 1-2 ปี อาการเจ็บลดลงเรื่อยๆ แขนข้างที่เจ็บเคลื่อนไหวได้มากขึ้นอย่างช้าๆ
“กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหัวไหล่ติด คือ กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พบเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน อย่าง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่ามีโอกาสเกิดภาวะไหล่ติดสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า” คุณหมอ ย้ำ
วิธีการรักษา
สำหรับวิธีรักษาภาวะไหล่ติดในปัจจุบัน ข้อมูลทางวิชาการระบุไว้ว่า มีวิธีการรักษาภาวะไหล่ติดที่นิยมใช้กันอยู่ 4 วิธี ได้แก่
1.การทำกายภาพบำบัด นักกายภาพจะพยายามยืดไหล่และหมุนขยับส่วนที่ติด ซึ่งกระบวนการบำบัดจะเจ็บมาก 90% ของผู้ป่วยจะเลิกรักษาเนื่องจากไม่สามารถทนต่ออาการเจ็บระหว่างบำบัด
2.การบริหารบริเวณหัวไหล่ เช่น ท่าไต่กำแพง มักไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากเมื่อผู้ป่วยทำด้วยตัวเองจนถึงตำแหน่งที่หัวไหล่ติด ผู้ป่วยจะไม่ทำต่อเนื่องจากเจ็บมาก
3.การฉีดยาสเตียรอยด์ที่ข้อไหล่และการรับประทานยาเป็นการบรรเทาปวด และ 4.การผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีค่ารักษาค่อนข้างสูง
แพทย์อายุรเวทคนเดิม อธิบายต่อว่า แต่ที่ศูนย์รักษาไมเกรนและโรคปวดกล้ามเนื้อ ดอกเตอร์แคร์ มีวิธีการรักษาภาวะไหล่ติดที่เรียกว่า SAM ต่างจากที่อื่น โดยประกอบด้วยการรักษา 3 ขั้นตอนหลัก คือ
1. Stretching การยืดกล้ามเนื้อเพื่อเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของข้อต่อหัวไหล่ และ
2. Acupresssure การกดจุด Trigger Point เพื่อสลายพังผืดยืดหยุ่นเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการรักษาในขั้นตอนที่ 3 ต่อ คือ
3. Manipulation การปรับองศาข้อไหล่ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Goniometer ในการวัดองศา หลังจากผ่านขั้นตอนที่ 1 และ 2 แล้ว แพทย์อายุรเวทจะเริ่มการปรับองศาการยกหัวไหล่ทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง เพื่อทำให้การทำงานของหัวไหล่เป็นไปได้ตามปกติ
"การผสมผสานเทคนิคดังกล่าว ทำให้การรักษาภาวะไหล่ติดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลารักษาที่สั้น หลังจากเสร็จสิ้นการรักษาทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว แพทย์จะทำการตรวจดูการเคลื่อนไหวของข้อไหล่อีกครั้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บน้อยมาก พร้อมสังเกตได้ว่าอาการดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใน 2 สัปดาห์ จากเดิมที่ต้องทรมานจากความเจ็บปวดบริเวณหัวไหล่ และไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติมานานเป็นปี".
การดูแลตัวเองหลังการรักษา
หลังการรักษาเพื่อไม่ให้เกิดภาวะหัวไหล่ติดอีก แพทย์อายุรเวท แนะนำว่า ควรบริหารหัวไหล่ด้วยการขยับและหมุนหัวไหล่บ่อยๆ โดยใช้ท่าบริหารหัวไหล่ง่ายๆ เช่น ยกแขนขึ้นตรงไปด้านหน้าขนานกับลำตัว ดันแขนข้างซ้ายไปทางขวามือขนานกับลำตัวใช้แขนขวาดึงบริเวณข้อมือซ้ายเข้าหาลำตัวค้างไว้ 10 วินาที ทำ 3 ครั้ง แล้วทำสลับข้าง
หรือจะเป็นท่ายกมือขวาขึ้นเหนือศีรษะพับข้อศอกลงแตะบริเวณท้ายทอย ใช้มือซ้ายจับบริเวณข้อศอกด้านขวาดึงข้อศอกไปทางด้านซ้ายมือ ค้างไว้ 10 วินาที แล้วทำสลับข้างกัน และท่านิ้วไต่ฝาผนัง ให้ยืนตรงหันหน้าเข้าผนัง ใช้นิ้วไต่ผนังขึ้น-ลงโดยไม่ยกไหล่ตาม ค่อยๆ เพิ่มความสูงขึ้นตามลำดับ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะไหล่ติดเกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ตามควรระวังการถูกกระชากของกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่อย่างรุนแรง เช่น การโหนรถเมล์ ไม่ควรยกของหนัก และหลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งที่ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ที่ต้องยกขึ้นสูงเหนือบริเวณศีรษะเป็นเวลานานๆ เช่น การทาสี การเขียนกระดาน ก็จะทำให้ห่างไกลจากภาวะหัวไหล่ติดได้
บทความเพิ่มเติม
ข้อไหล่ยึดหรือข้อไหล่ติด
สำหรับผู้ที่อายุยังน้อยหรือไม่ได้ผ่านการทำงานหนักอาจจะไม่รู้จักโรคนี้ แต่สำหรับวัยกลางคนขึ้นไปและผ่านงานหนักจะประสบปัญหาเรื่องการยกไหล่ไม่ขึ้น หรือไม่สามารถถูหลังเราเรียกภาวะนี้ว่า Frozen shoulder ข้อไหล่ติด ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้คือ
* เป็นในหญิงมากกว่าชาย
* มักจะเริ่มเป็นอายุ 40-50 ปี
* ผู้ป่วยเบาหวานจะมีอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ประมาณร้อยละ 20-30%
* ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้ได้แก่ การที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของข้อ การได้รับอุบัติเหตุที่ไหล่ การใช้งานมากไป คอพอกเป็นพิษ
สาเหตุของการเกิดข้อติด
สาเหตุที่แท้จริงไม่มีใครทราบแต่เชื่อว่าเกิดจากการ อักเสบของเยื่อหุ้มข้อและมีการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อ ทำให้ข้อเกิดการเคลื่อนไหวน้อยลง
การดำเนินของโรค
1. ในระยะแรกจะมีอาการปวดข้อไหล่โดยเฉพาะปวดเวลากลาง คืน อาการจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อ ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2-9 เดือน
2. ระยะที่สองอาการปวดจะน้อยลง แต่จะมีการเคลื่อนไหวน้อยลงระยะนี้ใช้เวลา 4-12 เดือน
3. ระยะที่สามจะเริ่มฟื้นตัว การขยับของข้อดีขึ้น ระยะนี้ใช้เวลา 12-42 เดือนหากไม่ดีอาจจะพิจารณาผ่าตัด
การวินิจฉัยและการรักษา
การตรวจไม่ยาก แพทย์จะให้ยกแขนขึ้นพบว่ายกแขนได้น้อยลง อาจจะต้องx-ray เพื่อตรวจว่ามีภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นหรือไม่การรักษาประกอบไปด้วย
* ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID
* ยาคลายกล้ามเนื้อ
* การทำกายภาพ
* การใช้น้ำร้อนหรือน้ำแข็งประคบ
* การฉีดยา steroid เข้าข้อ
* การบริหารเพื่อทำให้ไหล่เคลื่อนไหวได้มากขึ้น
นอนราบใช้มือข้างหนึ่งจับที่ข้อศอกเพื่อยกแขนขึ้นจนติดพื้น
ยืน ใช้มือจับข้อศอกให้แขนข้ามร่างกาย ให้สุด
ยืน ใช้มือจับข้อศอกให้แขนข้ามร่างกาย ให้สุด
การบริหารเพื่อให้ไหล่แข็งแรงมากขึ้น
การบริหารตามรูปข้างล่างจะทำให้กล้ามเนื้อรอบไหล่แข็ง แรงขึ้น การบริหารดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หากมีอาการปวดให้หยุดทันที ก่อนที่จะบริหารร่างการให้ยืดกล้ามเนื้อหัวไหล่ตามรูปข้างบน ยืนก้มเอามือจรดพ้น แกว่งแขนไปมา การเลือกน้ำหนักไม่ต้องหนักมาก ให้บกแต่ละครั้งได้ 20-30 ครั้งโดยไม่เหนื่อย เมื่อทำได้ดีจึงค่อยเพิ่มน้ำหนักอาทิตย์ละครั้ง 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์เมื่อสิ้นสุดการบริหารให้ใช้น้ำแข็งประคบ 10-20 นาที
เริ่มต้นให้นอนคว่ำบนโต๊ะ ให้แขนซ้ายพร้อมทั้งหัวไหล่ยื่นออกนอกโต๊ะ ยกน้ำหนักขึ้นโดยการงอที่ข้อศอกดังรูปจนระดับแขนและไหล่อยู่ระนาบเดียวกัน เวลายกแขนขึ้นลงให้ทำอย่างช้าๆ
นอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง โดยมีหมอนใบเล็กหนุนบริเวณรักแร้ ยกน้ำหนักดังรูปโดยเริ่มจากพื้นจนขนานกับพื้น เวลายกขึ้นลงให้ทำช้าๆ
นอนตะแคง แขนข้างบนวางแนบลำตัว แขนข้างล่างยกน้ำหนักดังรูปจนติดลำตัว ยกขึ้นลงอย่างช้าๆ
ยืนกำน้ำหนักดังรูป ยกนำหนักขึ้นโดยประมาณว่ากางแขน 45 องศาหลังจากนั้นบิดข้อมือโดยให้หลังมือมาอยู่ด้านหน้า นิ้วหัวแม่มืออยู่ล่าง
ภาพจากอินเทอร์เน็ตและ ข้อมูลจาก http://www.thaipost.net/ , http://www.thaigold.info/, http://raja.thaikm4u.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น