วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตรวจตราเต้านมเสียบ้าง ถ้าไม่อยากเหมือน'แองเจลินา โจลี' (5)

เทคนิคใหม่"ศิริราช" พิชิต"มะเร็งเต้านม


ทําไม !? ดาราฮอลลีวู้ดอย่าง "แองเจลินา โจลี" จึงตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเอาเต้านมทั้งสองข้างออก เพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม 

คำตอบคือ ปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นทุกปี 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า มีผู้ป่วยปีละ 13,000 คน เสียชีวิตปีละ 4,600 คน เฉลี่ยเสียชีวิต 12 คนต่อวัน

นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งตับ 

โรคดังกล่าวส่วนใหญ่จะพบในหญิง อายุ 40-45 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรค 20 ต่อแสนประชากร 

ความเสี่ยงจะเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากกินฮอร์โมนมากเกิน กินยาคุมกำเนิดตั้งแต่เด็ก มีประจำเดือนอายุน้อยกว่า 12 ปี และหมดก่อน 50 ปี ส่วนสาเหตุจากพันธุกรรมในคนไทยพบต่ำกว่าในประเทศตะวันตก

โดยทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่ได้ผลดีที่สุดคือ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า...ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลัวที่สุด

แต่นับจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าขึ้นสามารถผ่าตัดเนื้อร้ายออกได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้ง ที่สำคัญผู้ป่วยยังไม่ต้องกังวลถึงผลข้างเคียงจากกระบวนการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีบ่อยครั้งอีกด้วย 

เทคนิคการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ได้รับการยืนยันจาก "คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล" ซึ่งเพิ่งจะมีการแถลงข่าวถึงการพัฒนาเทคนิคการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ด้วยการผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 

"รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์" อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ ในฐานะผู้ริเริ่มการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ในศิริราช ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมเป็นที่นิยมมากขึ้น

หลักการคือ ผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก โดยเก็บผิวหนังบริเวณเต้านม หัวนม และลานนมไว้ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่สูญเสียเต้านม 

แต่ปัญหาที่ผ่านมา จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า การผ่าตัดดังกล่าวจะทำให้อัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านมสูงขึ้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการฉายรังสีรักษาภายนอกหลังการผ่าตัดเป็นจำนวน 25-30 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 5-6 สัปดาห์ติดต่อกัน

ซึ่งการรักษานี้ สร้างความลำบากให้ผู้ป่วย นอกจากเรื่องการเดินทางไปกลับโรงพยาบาลบ่อยๆ แล้ว โอกาสที่บางรายจะเกิดผลข้างเคียงก็มี และยังทำให้การบริการทางรังสีรักษาแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนานขึ้น

ผศ.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอและเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะแพทย์ศิริราชจึงได้มีการพัฒนาเทคนิคการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่เพื่อลดอุปสรรคต่างๆ ได้มีการอบรมพัฒนาเทคนิคต่างๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะจากอิตาลีและอังกฤษ กระทั่ง รพ.ศิริราช สามารถพัฒนาเทคนิคการรักษารูปแบบเฉพาะของศิริราชขึ้น 

"เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการรักษา ในปี 2555 ได้จัดประชุมวิชาการเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการฉายรังสีรักษาในห้องผ่าตัด คือ โปรเฟสเซอร์ R. Orrecchia และโปรเฟซเซอร์ Y .Petit จาก European Institute of Oncology ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้วยวิธีนี้ และมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาแล้วมากกว่า 2,000 ราย ทำการประเมินและให้ข้อชี้แนะแก่ทีมแพทย์ศิริราช ทำให้มีการปรับปรุงคุณภาพ เทคนิคการผ่าตัด จนสามารถรักษาผู้ป่วยได้สำเร็จ" ผศ.นพ.สืบวงศ์กล่าว 

รพ.ศิริราช เริ่มทำการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่ผสมกับการฉายรังสีในคราวเดียว ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ให้บริการผู้ป่วยแล้ว 50 ราย โดยทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล (ตัดต่อมน้ำเหลืองบางส่วนแทนการตัดต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด) จากนั้นผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออก 

ตามด้วยการฉายรังสีครั้งเดียวในห้องผ่าตัดด้วยการวางท่อนำรังสีโดยตรงในบริเวณที่ต้องการจะฉาย ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที หลังการผ่าตัดได้ติดตามผู้ป่วยเป็นเวลาหนึ่ง พบว่าได้ผลดีเยี่ยม มีอัตราการเกิดโรคซ้ำเพียงร้อยละ 2 หรือพบเพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 

อย่างไรก็ตาม การรักษาแนวนี้ช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเวลา ไม่ต้องฉายรังสีหลายครั้ง แถมยังลดงานบริการผู้ป่วยให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลด้วย 

อาจสงสัยว่าการฉายรังสีเพียงครั้งเดียว จะช่วยลดการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำได้อย่างไร เรื่องนี้ "นพ.กุลธร เทพมงคล" อาจารย์แพทย์ประจำสาขารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา ในฐานะผู้ฉายรังสีรักษา อธิบายว่า แต่เดิมการฉายรังสีสำหรับมะเร็งเต้านม เป็นการป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำ ซึ่งต้องมีการฉายรังสี 25-30 ครั้ง ประมาณ 5 สัปดาห์

แต่ปัญหาคือ 1.ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้ารับการฉายรังสีรักษาครบตามระยะเวลาที่กำหนด 2.มีการศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากหลายๆ ประเทศ พบว่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งกลับมาเป็นซ้ำเฉพาะบริเวณใกล้ก้อนมะเร็งเดิมเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการพัฒนาฉายรังสีเฉพาะที่บริเวณก้อนมะเร็งเดิมเท่านั้น

"รูปแบบการรักษานี้ ทางรังสีมีหลายวิธี สำหรับการฉายแสงในห้องผ่าตัด ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งลดระยะเวลาการรักษาให้สั้นที่สุดและเร็วที่สุด ผลก็คือ เนื่องจากบริเวณฉายรังสีเล็กลง ผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ปอด หัวใจ เนื้อเยื่อเต้านมบริเวณอื่นและผิวหนังจึงลดลงด้วย ทั้งนี้ จากการศึกษาด้านรังสีชีววิทยาเบื้องต้น พบว่า การฉายรังสีครั้งเดียวในบริเวณเล็กๆ ที่เต้านมไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง และต่อมามีการทดสอบทางคลินิกนอกเหนือจากในอิตาลี คือ ข้อมูลการศึกษาระยะที่ 3 แบบสุ่มจากหลายสถาบันในอังกฤษ พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะสมตามเกณฑ์จะมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำที่ 4 ปี ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งตัวเลขเท่ากันกับการฉายรังสีทั้งเต้านม" นพ.กุลธรกล่าว และว่า วิธีการรักษาแนวใหม่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการฉายรังสีดีขึ้น ผลการศึกษาในอังกฤษ คุณภาพชีวิตตามแบบวัดของยุโรป (EORTC) โดยวัดสุขภาพร่างกายทั่วไป ความรู้สึกเรื่องภาพลักษณ์ อาการต่างๆ ที่เต้านมและที่แขน พบว่ามีผลคุณภาพชีวิตที่ 3 ปี ดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับการฉายแสงแบบเดิม

แต่สำหรับผู้ป่วยที่ รพ.ศิริราช ขณะนี้ยังเป็นการติดตามผลเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งพบว่าคุณภาพชีวิตมีแนวโน้มสูงพอๆ กับการศึกษาในต่างประเทศ และผู้ป่วยส่วนใหญ่พอใจกับการรักษาแนวนี้

การรักษาด้วยการฉายรังสีในห้องผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม แต่ต้องย้ำว่า...ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะทำการรักษาวิธีนี้ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่ที่การประเมินของคณะแพทย์ อาทิ ผู้ป่วยต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นมะเร็งขนาดก้อนน้อยกว่า 2 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง และมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง ส่วนค่ารักษากรณีการผ่าตัดนั้น ยังคงเป็นไปตามสิทธิผู้ป่วย แต่การฉายรังสีซึ่งไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ เบื้องต้นอยู่ที่ 38,000 บาท 

แต่ล่าสุดทีมแพทย์ศิริราช ได้ทำหนังสือไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อขอบรรจุกรณีฉายรังสีไว้ในสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแล้ว 

งานนี้หากทำได้ ก็หวังว่าสิทธิประกันสังคม และ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ควรต้องได้อย่างเท่าเทียมด้วยเช่นกัน.

ข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th  ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2556





กรณีดาราฮอลลีวูด แองเจลินา โจลี เผยข่าวการตัดสินใจครั้งสำคัญผ่านบทความ “My medical choice” ใน นสพ.นิวยอร์กไทมส์ เกี่ยวกับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมจาก 87% ให้ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 5% ซึ่งมีหลายกระแสชื่นชมในการ
ตัดสินใจ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ โอกาสที่เธอจะเป็นมะเร็งค่อนข้างสูง


จากผลการตรวจยีนส์ทำให้พบว่าเธอมีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA 1 และตัดสินใจตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง โดยเก็บผิวหนังทั้งหมดและหัวนมเอาไว้ หรือที่เรียกว่า bilateral prophylactic nipple-areolar complex sparing mastectomy โดยใช้เทคนิค nipple delay procedure ก่อนที่จะทำการผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกมาเพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอดของหัวนม จากนั้นก็ได้ใส่เต้านมเทียมชนิดชั่วคราวไว้ใต้กล้ามเนื้อหน้าอก และมาเปลี่ยนเป็นแบบถาวรในภายหลัง



ด้าน นพ.ธงชัย ศุกรโยธิน ศัลยแพทย์ด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี เผยว่า
การตรวจหาความผิดปกติของยีน BRCA ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายและไม่ได้ใช้ประจำ
ในปัจจุบัน การตรวจมีค่าใช้จ่ายสูงและยังไม่มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการตรวจที่ชัดเจนในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศมีการศึกษารวมทั้งมีเกณฑ์ที่จะใช้คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ในการที่จะมียีน BRCA ที่ผิดปกติ จึงทำให้มีการตรวจที่แพร่หลาย ส่วนเทคนิคในการผ่าตัด
ที่เลาะเอาเนื้อเยื่อเต้านมโดยเก็บหัวนมและผิวหนังด้านนอกเอาไว้ ยังไม่ถือว่าเป็นวิธีมาตรฐาน
ของการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม 

โดยในต่างประเทศทั้งแถบยุโรปและอเมริกายังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย แต่ก็นำมาใช้ในการผ่าตัด
รักษาผู้ที่พบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในบางกรณี โดยอาจจะต้องมีการฉายแสงที่บริเวณหัวนมที่เก็บไว้
ทั้งฉายแสงในห้องผ่าตัดเลยหรือฉายแสงภายหลัง เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ ในประเทศไทย
ก็เริ่มมีการผ่าตัดเทคนิคนี้เพิ่มมากขึ้นแต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก


สำหรับการตัดสินใจชิงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการตัดเต้านมออกก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่พบว่าเป็นมะเร็งนั้น นพ.ธงชัย กล่าวว่า “เมื่อผลตรวจออกมาว่ามีความผิดปกติของยีน BRCA1 คนๆ นั้นมีความเสี่ยง
ถึง 65-81% บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต และถ้ามีความผิดปกติของยีน BRCA2
ก็จะมีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม 45-85% ดังนั้นจึงควรป้องกันหรือให้การรักษาไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง
ตามแนวทางซึ่งผู้ป่วยสามารถพิจารณาร่วมตัดสินใจกับแพทย์ดังนี้

1. ตัดเต้านมออกสองข้าง 
2. ตัดรังไข่ออกสองข้าง 
3. การบำบัดรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยประกอบกับดุลพินิจ
ของแพทย์ผู้รักษา


ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ก็ต้องหมั่นสังเกตเต้านมด้วย ซึ่งวิธีที่สามารถ
ดูได้ด้วยตนเองก็คือ การคลำเต้านมเพื่อตรวจหาความผิดปกติ โดยมีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ


•    คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆ ที่เต้านมจากยอดสู่ฐานโดยหมุนเป็นลักษณะก้นหอย
•    คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆ ที่เต้านมตามแนวเส้นตรงขึ้น-ลงจากด้านข้างหนึ่งไปอีก
ข้างหนึ่งของแต่ละเต้า
•    คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆ ที่เต้านมจากด้านข้างขึ้น-ลงซิกแซกต่อเนื่องจนทั่วเต้านม


ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวอาจเป็นการตรวจด้วยตัวเองแค่เบื้องต้น แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเต้านม
มีก้อนมะเร็งหรือไม่ ทางที่ดีที่สุด จึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการพิสูจน์ให้แม่นยำมากขึ้น ซึ่ง
ปัจจุบันจะใช้วิธีการเจาะตรวจเนื้อเยื่อโดยอาศัยเครื่องแมมโมแกรมค้นหาพิกัดตำแหน่งที่ผิดปกติ
ของเต้านม (Stereotactic Biopsy) โดยจะประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ จากนั้นจะใช้เข็ม ATEC
เจาะเข้าไปจัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งที่ผิดปกติ ซึ่งจะทำงานร่วมกับเครื่อง Suros  ซึ่งเข็มชนิดนี้จะมี
ข้อดีตรงที่สามารถดูดชิ้นเนื้อออกมาได้หลายชิ้นจากการเจาะเพียงครั้งเดียว เพราะเมื่อทำงาน
ร่วมกับเครื่องตัวนี้จะสามารถหมุนได้ 360 องศา ทำให้ลดอาการเจ็บ อักเสบ และเนื้อเยื่อเต้านมช้ำ
ของผู้ป่วยทั้งระหว่างและหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจึงสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ที่สำคัญขนาดของแผลนั้น
เล็กเท่ารูเข็มเท่านั้น ซึ่งการตรวจพิกัดก้อนมะเร็งนั้นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์อย่างมาก
ที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์รังสีวิทยา 


ในด้านการรักษาที่ผ่านมาแนวทางการรักษาโรคนี้ก็คือการผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด
การให้ยาต้านออร์โมน และการรักษาด้วยยาที่เป้าหมายมะเร็ง




สำหรับในกลุ่มผู้หญิงที่อายุยังน้อย แต่เกิดเป็นโรคนี้ แน่นอนว่าการสูญเสียเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง
หรือทั้งสองข้างไปจากการรักษา คงเป็นเรื่องที่ทรมานใจมาก เพราะผู้หญิงยังต้องการความสมบูรณ์
ในสรีระของตัวเองอยู่ การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันนี้จึงมีทางเลือกใหม่ด้วยการเสริมเติมเต็ม
เต้านมจากการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกที่สามารถทำได้ทันทีในคราวเดียวกัน โดยใช้เนื้อส่วนแผ่นหลัง
 และท้องน้อยของผู้ป่วยมาใช้ ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดนั้น ด้าน ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้อำนวยการ
 Breast Center โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่าเป็นการผ่าตัดด้วยเทคนิคการย้ายไขมัน และกล้าม
เนื้อที่ท้องหรือแผ่นหลังของผู้ป่วยมาปลูกถ่าย เพื่อทดแทนส่วนที่เสียไปจะใช้เวลาในผ่าตัดประมาณ
 4-5 ชั่วโมง ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ เป็นการถือโอกาสกำจัดไขมันส่วนเกินหน้าท้องไปพร้อมกัน แถมยังได้เต้านมที่สวยงามกลับมาทันที แต่ข้อเสียก็คืออาจใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นอย่างน้อย
5-7 วัน


ในส่วนของการเลาะกล้ามเนื้อแผ่นหลังเพื่อเสริมเต้านั้นที่ผ่านมาวิธีนี้มีข้อจำกัดในการเลาะกล้ามเนื้อ
ทำให้ได้ปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญสูง ซึ่ง ผู้อำนวยการ Breast Center
โรงพยาบาลเวชธานีได้อธิบายต่อว่า ศัลยแพทย์จะต้องมีความรู้เชี่ยวชาญตั้งแต่การประเมินปริมาณ
และการทำงานของกล้ามเนื้อแผ่นหลัง เพราะจะสามารถประมาณขนาดของเต้านมที่เสริมสร้างมาใหม่
ได้ ข้อดีของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 3-4 วันเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อแผ่นหลัง
มีการสมานและเลือดหล่อเลี้ยงได้ดีกว่า แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬา หรือผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องใช้
กล้ามเนื้อหนักๆ หลังการผ่าตัดอาจไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่เหมือนเดิม

ทั้งนี้ กล้ามเนื้อบริเวณหลังที่หนาประมาณ 2 เซนติเมตร สามารถสร้างเต้านมใหม่ขนาดกลางได้
ยิ่งถ้าหนากว่านี้ และมีเนื้อมากก็ยิ่งสร้างเต้านมขนาดใหญ่ได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีรูปร่างผอมบาง
อาจสร้างเต้านมได้ขนาดเล็กเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อมีไม่เพียงพอ 


การผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่พร้อมกับการกำจัดเนื้อร้ายทั้ง 2 วิธีนี้แม้ว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้
ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและมีความสุขเหมือนเดิมแล้ว แพทย์ก็ยังต้องให้การรักษาร่วมกับวิธีอื่น
เพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำในช่วง 2-3 ปีแรกของการรักษา ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องหมั่นมาตรวจเช็ก
สุขภาพเป็นประจำหลังผ่านการรักษาโรคมะเร็งไปแล้วจะดีที่สุด


ภาพจาก อินเทอร์เน็ตและ ข้อมูล: Breast Center โรงพยาบาลเวชธานี
จาก http://oohho.com/


...................................

"ไขมัน" ชุบชีวิตใหม่ งอกเต้านม ตัดมะเร็งร้ายทันที

ด้วยมีเสียงชื่นชมแองเจลินา โจลีที่เปิดเผยการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม ทำให้มองว่า
ปัจจบันผู้หญิงที่เป็นมะเร็งมีทางเลือกมากขึ้น  ลองอ่านบทความนี้ดูก็แล้วกันนะ


อาจจะพูดกันมาหลายหนสำหรับเรื่องโรคมะเร็งเต้านม ทุกคนคงรู้จักคุ้นชินกันมานานว่า
เป็นโรคที่ทำลายทั้งชีวิต และความมั่นใจให้กับผู้หญิงมามาก ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางการ
รักษาโรคนี้ก็คือการผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาต้านออร์โมน และ
การรักษาด้วยยาที่เป้าหมายมะเร็ง 


การเสียเต้านมไป เพื่อแลกกับชีวิตที่ได้กลับมา บางคนอาจพอใจแล้ว แต่สำหรับในกลุ่ม
ผู้หญิงที่อายุยังน้อย แต่เกิดเป็นโรคนี้ แน่นอนว่าการสูญเสียเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง หรือ
ทั้งสองข้างไป คงเป็นเรื่องที่ทรมานใจพอสมควร และยิ่งผลการสำรวจของทางสถาบัน
มะเร็งแห่งชาติได้ให้ข้อมูลว่าอายุของผู้ป่วยโรคนี้มีตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และเป็นมากใน
อายุ 35-55 ปีนั้น ถือยังเป็นช่วงอายุที่ยังต้องการความสมบูรณ์ในสรีระของตัวเองอยู่ 


ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแบบเอาออกหมดหรือเฉพาะก้อนเนื้อร้ายก็ตาม ก็ส่งผลต่อเต้านม
ให้เกิดการสูญเสียเนื้อนม หรือผิดรูปได้ทั้งสิ้น ที่ผ่านมาการเสริมเต้านม แพทย์จะต้อง
สังเกตอาการของผู้ป่วยนานถึง 2 ปีก่อนว่าเชื้อจะไม่กลับมาอีกถึงจะทำการเสริมเต้านม
ให้ใหม่ได้ ซึ่งในระหว่างที่รอดูอาการผู้ป่วยจึงต้องทนทุกข์กับการเห็นร่องรอยการผ่าตัด
และเต้านมที่หายไปเป็นเวลานาน จนอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหมดกำลังใจไปง่ายๆ 




แต่ในปัจจุบันนี้ การเสริมเติมเต็มเต้านมจากการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกสามารถทำได้
ทันทีในคราวเดียวกัน โดยใช้เนื้อส่วนแผ่นหลัง และท้องน้อยของผู้ป่วยมาใช้ ซึ่งเทคนิค
การผ่าตัดนั้น ด้านผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้อำนวยการ Breast Center โรงพยาบาล
เวชธานีอธิบายว่าเป็นการผ่าตัดด้วยเทคนิคการย้ายไขมัน และกล้ามเนื้อที่ท้องหรือ
แผ่นหลังของผู้ป่วยมาปลูกถ่าย เพื่อทดแทนส่วนที่เสียไป โดยจะใช้เวลาในประมาณ
4-5 ชั่วโมง ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ เป็นการถือโอกาสกำจัดไขมันส่วนเกินหน้าท้อง
ไปพร้อมกัน แถมยังได้เต้านมที่สวยงามกลับมาทันที แต่ข้อเสียก็คืออาจใช้ระยะเวลา
ในการพักฟื้นอย่างน้อย 5-7 วัน

เห็นแบบนี้แล้วไขมันส่วนเกินจึงไม่ได้ไร้ประโยชน์และทำให้เราดูแย่เสมอไป แต่มันกลาย
เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับการชุบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยเองได้มีเต้านมที่สวยสมบูรณ์ดังเดิม 


การเสริมเต้านมด้วยไขมันจากหน้าท้อง นอกจากเป็นวิธีที่ช่วยชุบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยไ
ด้ดีแล้ว อีก 1 วิธีที่ช่วยได้ก็คือการฉีดไขมัน  โดยจะใช้กับผู้ที่เคยผ่าตัดเต้านมมาก่อนแล้ว
มีลักษณะเต้านมผิดรูปร่าง ซึ่งยังสามารถใช้เข็มขนาดเล็กดูดไขมันจากร่างกายส่วนอื่นๆ
มาปั่นแยกเฉพาะเซลล์ไขมันและฉีดเข้าไปในบริเวณที่แก้ไข ข้อดีคือทำให้ผู้ป่วยไม่ต้อง
พักฟื้นทนกับอาการเจ็บปวดนาน เพราะไม่มีแผลผ่าตัด จะมีเพียงแค่รอยรูเข็มเล็กๆเท่านั้นเอง



ภาพและข้อมูลจาก http://oohho.com

ศิริราชแนะไม่ควรตัดเต้าตาม"โจลี" ชี้คนเอเชียมียีนกลายพันธุ์น้อยกว่า


     ศิริราชถอดบทเรียนแองเจลีนา โจลี เตรียมตัดเต้านมทิ้งหลังตรวจพบยีนกลายพันธุ์
เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม-รังไข่สูง ขณะที่แพทย์ไม่แนะตัด 2 อวัยวะเพื่อป้องกัน ระบุควรศึกษา
ก่อนตัดสินใจ ชี้ในคนเอเชียยีนกลายพันธุ์น้อยกว่ายุโรป


    เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2556 กลุ่มมะเร็งเต้านม สถานีวิทยามะเร็งศิริราช ร่วมกับสาขาวิชา
ศัลยศาสตร์ศีรษะ-คอและเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
จัดเสวนาวิชาการ “การตรวจเพื่อทำนายมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ แนวทางการักษา”
โดยถอดบทเรียนจากแองเจลีนา โจลี ที่ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง เนื่องจาก
พบว่าตนเองมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคต ซึ่งก่อให้เกิดความสนใจ
อย่างแพร่หลายทั่วโลก เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม


    โดย ผศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล
ศิริราช กล่าวว่า มะเร็งเต้านมชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน
บีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) และบีอาร์ซีเอ 2 (BRCA2) โดยกลุ่มคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป หากเกิด
การกลายพันธุ์ของยีนบีอาร์ซีเอ 1 มีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมสูงถึง 65% และเป็นมะเร็ง
รังไข่ 39% หากเกิดการกลายพันธุ์ของยีนบีอาร์ซีเอ 2 เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 45%
และเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึง 11% และความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทั้งนี้
จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่าคนทั่วไปมีโอกาสที่ยีนทั้ง 2 ตัว 1 ต่อ 500-1,000 ประชากร
แต่ยังไม่แสดงอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มชาวยิวและไอส์แลนด์ ส่วนอัตราการเกิดในคนไทย
ยังไม่มีรายงาน แต่ข้อมูลของประชากรในภูมิภาคเอเชียพบว่ามีอัตราการกลายพันธุ์ของยีน
ที่ว่านี้จำนวนน้อย

    ผศ.นพ.มานพกล่าวต่อว่า ปัจจุบันสามารถตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนบีอาร์ซีเอทั้ง 2
ชนิดได้ ร่วมกับการวิเคราะห์ประวัติครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการพยากรณ์โรค ดังนั้น
ควรตรวจในคนที่เป็นมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว ซึ่งอัตราค่าบริการ
จะอยู่ที่ 50,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลศิริราชได้ทำการศึกษาครอบครัวผู้ที่เป็น
โรคมะเร็ง 60 ครอบครัว ในจำนวนนี้ พบว่ามี 4 ครอบครัวที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม
ดังนั้นจึงถือว่าอุบัติการณ์ในประเทศไทยไม่เยอะ ทั้งนี้ การรักษาต้องดูที่ระยะ โดยหาก
เป็นระยะแรกสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ แต่หากเป็นระยะลุกลามก็ต้องตัดทิ้งทั้งหมด  


    รศ.พญ.พรพิมพ์ กอแพร่พงศ์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช
กล่าวว่า การตรวจคัดกรองสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การตรวจด้วยตัวเอง และการตรวจด้วย
เครื่องมือพิเศษ เช่น การทำแมมโมแกรม การทำอัลตราซาวด์ และการตรวจด้วยเครื่อง
แม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ก้อนเนื้อมีขนาดเล็กประมาณ 5 มม. ทำให้
มีโอกาสในการรักษาได้สูง อย่างไรก็ตาม ควรมีการตรวจสม่ำเสมอร่วมกับการทำแมม
โมแกรมและอัลตราซาวด์ เนื่องจากยังมีมะเร็งเต้านมชนิดอื่นที่เครื่องแม่เหล็กไม่สามารถ
ตรวจพบได้ เช่น มะเร็งที่เกิดจากหินปูน ทั้งนี้ การตรวจหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติที่ได้ผล
ควรเป็นช่วง 10-20 วันหลังจากมีประจำเดือนแล้ว


    นพ.วิษณุ โล่สิริรัตน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า
การสร้างเต้านมเทียมจะมี 2 วิธีคือ การใช้เนื้อเยื่อของร่างกายส่วนอื่นๆ กับการใช้เต้านมเทียม
โดยสามารถทำร่วมกับการผ่าตัดตัดเต้านมได้เลย หรือจะรอทำหลังการผ่าตัด และได้รับ
การรักษาโรคมะเร็งจนแน่ใจแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์ไม่แนะนำให้ตัดเต้านมทิ้งเพื่อ
ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในอนาคต เพราะถึงแม้จะสามารถสร้างเต้านมใหม่ได้ แต่ก็ไม่ได้
ให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ ส่วนกรณีผู้หญิงที่เคยผ่านการศัลยกรรมเต้านมเพื่อความงาม
มาแล้วนั้น ก็ยังสามารถทำการตรวจหาโรคได้ตามปกติ โดยให้ผลที่แม่นยำเช่นเดิม


    ด้าน ผศ.พญ.สุวนิตย์ ธีระศักดิ์วิชยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กล่าวว่า ผู้ที่มี
การกลายพันธุ์ของยีนบีอาร์ซีเอ 1 และบีอาร์ซีเอ 2 เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งรังไข่สูงกว่าคนปกติ
10 เท่า ประมาณ 3% เกิดในผู้ที่มีอายุน้อย ทั้งนี้ มะเร็งชนิดนี้รักษายากยังไม่มีวิธีการคัดกรอง
ถึงแม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดรังไข่แล้ว แต่ก็สามารถเกิดมะเร็งชนิดอื่นได้ เพราะมีเยื่อบุผิวหนัง
จำนวนมาก ทั้งนี้ หากตัดรังไข่ออกซึ่งจะเกี่ยวพันกับฮอร์โมน ดังนั้นจะทำให้เกิดภาวะเข้าสู่
วัยทองเร็วกว่าปกติ ผมร่วงง่าย ผิวหนังเหี่ยว อารมณ์แปรปรวน ความจำไม่ค่อยดี กระดูก
เสียหาย ไขมันแปรปรวน เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจตัดรังไข่ทิ้งจะต้องได้รับคำแนะนำจาก
อายุรแพทย์ สูติ-นรีแพทย์ จิตแพทย์ และศัลยแพทย์ ก่อน


    “ก่อนที่จะตัดสินใจตัดรังไข่จึงต้องประเมินก่อนว่าตนเองอยู่ในภาวะเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน
โดยในคนที่มียีน BRCA 1 และ BRCA 2 จะเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม
ต้องยอมรับว่าขณะนี้เรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ยังไม่มีวิธีไหนที่ดีในระยะแรกเริ่ม ดังนั้น
จึงต้องคิดหน้าคิดหลังให้มากๆ เพราะถึงแม้ว่าตัดรังไข่ออกไปแล้วจะไม่เป็นมะเร็งรังไข่และ
มะเร็งท่อรังไข่ แต่ก็ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดอื่นในช่องท้องได้” ผศ.พญ.สุวนิตย์กล่าว.


ข้อมูลจาก http://www.thaipost.net
....................................................................

หญิงไทยตายจากมะเร็งเต้านมเป็นอันดับ 3



นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวง
สาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีแองเจลินา โจลี นักแสดง ที่เข้ารับการผ่าตัดเอาเต้านม
ทั้ง 2 ข้างออก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านม
ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีอัตราการเกิด
มะเร็งประมาณร้อยละ 1-5 ที่เป็นมะเร็งที่เกิดจากยีนส์ที่มีความผิดปกติซึ่งถ่ายทอดทาง
พันธุกรรม หรือ บีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) หากตรวจพบยีนส์ผิดปกติประเภทนี้จะมีโอกาส
เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ถึงร้อยละ 50-80 ผู้มียีนส์ผิดปกติประเภทนี้จะมีโอกาสเสี่ยงเป็น
ทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ การตัดเต้านมทิ้งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิด
มะเร็งได้แต่ก็ยังต้องติดตามต่อเนื่องเพราะยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ด้วย

ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า
กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีผู้ที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์อยู่ในสัดส่วนเท่าไหร่
เนื่องจากเทคโนโลยีการตรวจหาความผิดปกติในระดับยีนส์ยังมีราคาสูงและสามารถ
ทำได้เพียงไม่กี่ทีเท่านั้น แต่ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดความผิดปกติที่เกิดจากยีนส์ จะสังเกต
ได้ว่าจะมีประวัติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง หรือ มีพี่น้องมากกว่า
หนึ่งคนเป็นมะเร็ง หรือ เกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชายในครอบครัวญาติพี่น้องสายตรง
หากมีสัญญาณดังกล่าวควรจะหมั่นตรวจเช็คความผิดปกติ ซึ่งจะต้องใช้วิธีการตรวจ
แบบแมมโมแกรม ซึ่งมีความละเอียดสูง จึงจะสามารถตรวจหาสัญญาณความผิด
ปกติได้ ส่วนคนปกติทั่วไปที่ไม่มีสัญญาณความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในครอบครัวจะ
แนะนำให้ตรวจหาความผิดปกติที่อายุประมาณ 40 ปี ซึ่งจะต่ำกว่าชาวตะวันตก


นพ.ธีรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสถานการณ์มะเร็งเต้านมในไทย มีผู้ป่วยด้วยมะเร็ง
เต้านมปีละ 13,000 คน และเสียชีวิตปีละ 4,600 คน โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิต 12 คนต่อวัน
 ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจาก มะเร็งตับที่เป็นการเสียชีวิตอันดับ 1 ที่มี
อัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 90 และอันดับ 2 มะเร็งปากมดลูก ที่มีอัตราการเสียชีวิต
ร้อยละ 50 ปรากฏการณ์ของโรคส่วนใหญ่จะพบในหญิงอายุ 40-45 ปีขึ้นไป และมี
แนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคอยู่ที่ 20 ต่อแสนประชากร ความเสี่ยงจะเกิดจากความ
ผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง(เฮโตรเสจน)มากเกินไป ไม่สมดุล การรับประทาน
ฮอร์โมนมากเกินไป การรับประทานยาคุมกำเนิดตั้งแต่เด็ก การที่มีประจำเดือน
อายุน้อยกว่า 12 ปี และหมดก่อน 50 ปี ถือว่ามีภาวะเสี่ยง ส่วนสาเหตุจากพันธุกรรม
ในคนไทยถือว่าพบในระดับต่ำกว่าประเทศตะวันตก


ภาพจากอินเทอร์เน็ตและข้อมูลจาก http://breakingnews.nationchannel.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น