วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การใช้ยาในผู้สูงอายุ




สำหรับการใช้ยาในผู้สูงอายุ  หลักการใช้ยาใหญ่ๆ  คงไม่แตกต่างอะไรจากคนทั่วไป
คือการใช้ยาให้ถูกต้อง  ถูกโรค  ถูกวิธี  ถูกเวลา  แต่อาจจะมีบางอย่างที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น 
ที่อาจจะต้องดูแลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ยาในผู้สูงอายุ 
      เนื่องจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ  ของผู้สูงอายุนั้นก็จะเสื่อมไปตามวัย  โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งตับและไต  ซึ่งมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและกำจัดยา  ลองมาคุยกันถึง
ปัจจัยต่างๆ  ที่มีผลต่อการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุไปพร้อมๆ  กันดีกว่า
 ประการแรก  การทำงานของตับที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลต่อระดับยาในกระแสเลือด  ( คิดง่ายๆ
มันก็คือปริมาณยาที่อยู่ในร่างกาย) ซึ่งส่งผลถึงการรักษาและพิษจากยาที่อาจเกิดขึ้นได้ 
ส่วนไตก็เป็นอวัยวะที่สำคัญในการกำจัดยาจะมีการทำงานที่ด้อยลงเช่นกัน


นั้นหมายถึงว่าขนาดยาที่ใช้สำหรับคนทั่วไปอาจจะใช้ไม่ได้กับผู้สูงอายุ  เนื่องจากเมื่อไต
กำจัดได้น้อยลง  ระดับยาในเลือดก็จะมีมากกว่าปกติ  (หรือมีปริมาณยาในร่างกายมากกว่าปกติ) 
ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์หรือพิษจากยาได้
ฉะนั้นการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สูงอายุแต่ละรายจึงมีความจำเป็น  โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งเมื่อมีอาการเจ็บป่วยและพยายามจะรักษาด้วยตนเอง  ขนาดยาที่ใช้ต้องพิจารณาเป็น
พิเศษนอกจากนั้น  ความสามารถในการดูดซึมของทางเดินอาหารของผู้สูงอายุเองก็อาจจะ
ไม่ดีเหมือนกับคนหนุ่มสาว  ประสิทธิภาพการดูดซึมอาจจะด้อยลง  ซึ่งนั้นหมายถึงสารอาหาร
ที่ได้ก็อาจจะไม่เพียงพอไปด้วย
รวมทั้งเยื่อบุที่ทางเดินอาหารก็อาจจะมีการบางลงไปตามอายุ  ซึ่งยาหลายตัวอาจมีผลทำให้
ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร  หรือที่เราเข้าใจกันว่ามันกัดกระเพาะ  ยากลุ่มนี้ก็อาจจะมีผล
ข้างเคียงต่อผู้สูงอายุมากกว่าบุคคลทั่วไป
ประการที่สอง  ผู้สูงอายุอาจจะมีความไวต่อฤทธิ์ของยาบางชนิด (ตอบสนองต่อยาแต่ละชนิด) 
ได้มากกว่าคนทั่วไป   เช่น  ในกลุ่มของยาต้านชักบางตัว  หรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
บางตัว  
พบว่าจะออกฤทธิ์ในผู้สูงอายุมากกว่าคนทั่วไป  ฉะนั้นการใช้ยาผู้สูงอายุ  แพทย์มัก
จะเริ่มจากยาที่ขนานต่ำๆ  ก่อน  ซึ่งเป็นขนาดยาที่ในกลุ่มคนทั่วไปอาจจะยังไม่ให้ฤทธิ์ 
แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้วอาจจะให้การรักษาได้ดี



ประการที่สาม  ผู้สูงอายุนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นหลายโรคในเวลาเดียวกัน  ยกตัวอย่างเช่น
 ความดันโลหิตสูงร่วมกับเบาหวาน  หรือมีโรคข้อเสื่อม  แล้วยังเป็นความดันกับเบาหวาน 
แถมตรวจเจอโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมองอีก
เพราฉะนั้นผู้ป่วยสูงอายุหนึ่งรายอาจจะมีการใช้ยามากกว่าหนึ่งอย่าง  ซึ่งบางครั้งอาจจะใช้
ถึง 6-10  ชนิดร่วมกัน  ปัญหาต่างๆ  ก็อาจจะเกิดขึ้นได้
เช่น  ปัญหาแรกเลย  เรื่องของอันตรกิริยาระหว่างยา  หรือที่เราเข้าใจกันว่า  “ยาตีกัน”
ซึ่งไม่เฉพาะปฏิกิริยาระหว่างยากับยาเท่านั้นยังจะมีเรื่องยากับสมุนไพร  และยากับ
ผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดอื่นๆ  ซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิภาพของการรักษา  รวมทั้ง
อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้ากันของยา  สมุนไพร  หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ



ฉะนั้นเวลาพบแพทย์ให้บอกเล่าหรือนำยาทุกชนิดที่ใช้ไปด้วยรวมทั้งผลิตภัณฑ์
สุขภาพชนิดอื่นๆ  ที่ใช้  เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น  นอกจากปัญหาของ
ยาตีกันการได้ยาซ้ำอาจเป็นไปได้  ในกรณีที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา 
ซึ่งแพทย์แต่ละท่านก็ไม่ทราบว่าท่านใช้ยาอะไรอยู่  อาจจะใช้ยาที่ซ้ำซ้อนกันได้ 
นั่นหมายความว่าท่านอาจจะใช้ยาเกินขนาดและเกิดอันตรายได้
นอกจากนั้นเมื่อมีความเจ็บป่วยอื่นเกิดขึ้นเฉพาะครั้ง  เช่น  เป็นหวัด  หรืออะไรก็ตาม  ซึ่งอาจ
จะมีความจำเป็นต้องหายามาใช้เอง  ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังและควรปรึกษาเภสัชกรว่าจะมีปัญหา
กับยาที่ใช้เดิมหรือไม่  หรือมีปัญหากับโรคที่เป็นอยู่หรือไม่
เมื่อใช้ยาหลายตัวอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้ยาเนื่องจากยาแต่ละชนิดมีวิธีการใช้
ไม่เหมือนกัน  ยาบางชนิดยุ่งยากขนาดที่ว่าแต่ละวันก็ใช้ขนาดยาไม่เท่ากัน  เช่น  วันนี้กิน
หนึ่งเม็ด  วันพรุ่งนี้กินครึ่งเม็ด  วันต่อไปกินหนึ่งเม็ด  สลับกันไปอย่างนี้



บางครั้งท่านก็สับสนว่าวันนี้ต้องกินกี่เม็ด  หรือยาบางตัว  กินแค่บางวันในสัปดาห์  ความสับสน
ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน  ฉะนั้นก็อาจทำให้เกิดการใช้ยาที่ผิดพลาดได้  อย่างนี้คงต้องมีการจัด
ระเบียบการใช้ยาเพื่อป้องกันความสับสน
ประการที่ 4  คือ  ความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยสูงอายุก็อาจเป็นเรื่องยากในบางท่าน
 เนื่องจากอย่างที่เรียนให้ทราบว่าอาจต้องมีการใช้ยาหลายชนิด  ความเบื่อหน่ายก็อาจจะ
เกิดขึ้น  นอกจากนั้นโรคบางโรคก็ไม่ได้มีอาการเด่นชัด  เช่น  เป็นเบาหวาน  มันไม่มีความ
รู้สึกว่าเป็นเบาหวาน  มันก็รู้สึกว่าเป็นปกติ  ไม่ได้มีอาการแสดง  ผู้สูงอายุอาจจะไม่เข้าใจว่า
ทำไมต้องมานั่งกินยาอย่างนี้ทุกวัน  ซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจกับท่านถึงธรรมชาติของ
โรคต่างๆ  และเมื่อเข้าวัยชราการลืมรับประทานยาก็อาจเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ  ฉะนั้น
ญาติหรือลูกหลานต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ

ประการสุดท้ายที่อยากจะเตือน  คือ  หลานท่านก็จัดว่ามีสุขภาพแข็งแรง  วัยหลังเกษียณ
ก็ยังกระฉับกระเฉง  ทำอะไรต่ออะไรเองได้แต่เมื่อเวลาผ่านไปท่านอาจจะไม่ทันรู้ตัวว่า
 เริ่มเชื่องช้าลง  ความจำระยะสั้นก็ไม่ค่อยดี  บางครั้งก็ไม่ต้องการรบกวนลูกหลานเวลาไป
โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์และเวลารับยาจากห้องยา  แต่บางครั้งก็มีคำแนะนำมากมาย 
มีวิธีการใช้ยาที่แปลก  ท่านอาจจะฟังแล้วไม่สามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดได้  ตัวหนังสือก็เล็ก 
ต้อกระจกก็ยังไม่ได้ผ่าทำให้การฟังการอ่านเป็นไปได้ยาก  บางครั้งอาจจะถึงเวลาที่ท่าน
ต้องมีคนไปเป็นเพื่อนเพื่อช่วยรับข้อมูล  จะได้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำ
ของแพทย์  พยาบาลและเภสัชกรนะ
ภาพจากอินเทอร์เน็ต และข้อมูลจาก http://www.healthsecrecy.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น