ถ้าถามว่า ใครบ้างไม่เคยปวดคอ เมื่อยคอ? ตอบได้เลยว่า หายาก! ดังนั้นเรื่องนี้
จึงใกล้เคียงกับข้อมูลน่ารู้ที่เปิดเผยไว้ในเอกสารสุขภาพของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ที่ระบุไว้ว่า อาการปวดคอพบบ่อยเนื่องจากกิจกรรมของคนเราต้องกระทำในท่านั่ง
คอจึงต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักจากศีรษะเกือบตลอดทั้งวัน อีกทั้งคอยังเป็นอวัยวะ
ที่เคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ไม่ว่าจะก้ม เงย เอียง และหมุน ล้วนปัจจัยที่ส่งผล
ให้คนเราเผชิญปัญหาปวดคอได้ร้อยละ 50 ของช่วงชีวิต
ลักษณะของอาการปวดคอ
ใครเป็นแล้วจะรู้สึกปวดตึงบริเวณคอ อาจร้าวไปยังบ่า สะบัก แขน เคลื่อนไหวคอได้น้อยลง
บางรายมีอาการอ่อนแรงและชา
สาเหตุของการเกิดอาการปวดคอ
สำหรับอาการปวดคอนั้น มิได้เกิดจากการนอนผิดท่า หรือที่มักเรียกกันว่า นอนตกหมอนเท่านั้น
หากแต่มีหลายสาเหตุตั้งแต่ลักษณะท่าทางไม่ถูกต้อง เช่น นั่งทำงานด้วยโต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่ได้
ระดับสัมพันธ์กับสรีระ การเอียงคอคุยโทรศัพท์นาน นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์นาน ชอบเงยคอ
เวลาขับรถ นอนคว่ำหน้า
นอกจากนี้ อาการปวดคอยังเกิดได้จากภาวะข้อเสื่อม ข้ออักเสบ ทว่าสาเหตุนี้มักพบในคนสูงวัย เนื่องจากกระดูกและข้อต่อมีหินปูนมาพอกหรือมีโรคข้อบางชนิด เช่น รูมาตอยด์
และถ้าไม่ใช่เพราะสองสาเหตุข้างต้น ก็อาจเกิดจากภาวะเครียดทางจิตใจ การพักผ่อนไม่เพียงพอ
โดยปัญหาใจและกายนี้มีส่วนทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็งนานผิดปกติ จนปวดคอร่วมกับปวด
ศีรษะแถวท้ายทอย
หรือแม้แต่การเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณคอ จนคอต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เอ็นและกล้ามเนื้อ
ถูกยืดมากจนฉีกขาด รวมทั้งการมีกระดูกคอผิดปกติแต่กำเนิด และสายตาผิดปกติ ก็เป็นสาเหตุ
ให้ปวดคอได้เช่นกัน
การดูแลรักษา
ควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกปวดคอ? ลำพังการนำหมอนที่ใช้หนุนนอนไปตากแดดแก้เคล็ดตาม
ความเชื่อก็อาจมีผลทางจิตใจ ทว่าในทางการแพทย์ แนะนำให้หยุดพัก และควรประคบร้อนหรือ
เย็นราว 15-20 นาที ทำเครื่องพยุงคอโดยนำผ้าขนหนูม้วนให้หนา จากนั้นพันรอบคอเพื่อจำกัด
การเคลื่อนไหวและลดแรงกดจากน้ำหนักของศีรษะ ร่วมกับการกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล
หรือแอสไพริน แต่ถ้าบรรเทาปวดด้วยตนเองผ่านไป 5-7 วันแล้วไม่หาย ต้องไปพบแพทย์
ส่วนเทคนิคป้องกันการปวดคอ ทำได้ไม่ยาก เพียงบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อสร้างความแข็งแรง
อุปกรณ์ก็ไม่ต้องหามาเพิ่ม แค่ใช้นิ้วมือของตัวเราเองช่วยบริหารคอ 3 ท่า ดังนี้
เริ่มจากท่าแรก ตั้งคอตรง ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางที่หน้าผากพร้อมออกแรงกดไปทางด้านหลัง
ระหว่างนั้นให้เกร็งศีรษะต้านแรงดันจากนิ้วไว้
ท่าต่อมา ตั้งคอตรง ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางที่ท้ายทอย จากนั้นออกแรงกดไปด้านหน้า พร้อม
เกร็งศีรษะต้านแรงไว้ และ
ท่าสุดท้าย ยังคงตั้งคอตรงและใช้สองนิ้วเดิมวางบริเวณขมับด้านขวา
แล้วออกแรงกดไปด้านซ้าย และเกร็งศีรษะต้านแรงไว้ เสร็จแล้วทำสลับกับด้านซ้าย โดยแต่ละท่า
ที่แนะนำนี้ ให้เกร็งคอค้างไว้นาน 10 วินาที ทำท่าละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ เพื่อความแข็งแรง
ของกล้ามเนื้อคอ
ก็ลองไปทำดูก็แล้วกันนะคะ จะได้บรรเทาอาการปวดได้ค่ะ
ภาพจากอินเทอร์เน็ต และข้อมูลจาก http://www.nokroo.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น