วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ไวรัสหวัดสเปนตายแล้วจะฟื้นขึ้นมาอีกเพื่อ...



 เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน
ที่คร่าชีวิตผู้ป่วย 50 ล้านคนทั่วโลกเมื่อปี 2461 สูญพันธุ์ไปนานแล้ว แต่กลับมีนักวิทยาศาสตร์และทีมงาน
คณะหนึ่งได้สร้างขึ้นมาใหม่ จากยีน 8 ยีนในสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดนกที่พบในเป็ดป่า โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า
รีเวิร์ส เจเนติกส์ จนได้ไวรัสที่มีความเหมือนสายพันธุ์เมื่อ 96 ปีก่อน 97%
 
                      จากนั้นนำไปทดลองกับสัตว์จำพวกกระต่ายในห้องแล็บ ทำให้มันติดเชื้อ เพื่อดูว่าเชื้อร้ายนี้
สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายเพียงใดในสัตว์ที่อาจใช้เทียบเคียงกับมนุษย์ได้
 
                      ประเด็นของการศึกษาคือเพื่อประเมินความเสี่ยงของไวรัสหวัดนกที่วนเวียนอยู่ในธรรมชาติ
นักวิจัยพบว่ายีนในไวรัสไข้หวัดนกหลายชนิดมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับไวรัสปี 2461 และจะสามารถประเมิน
ศักยภาพการระบาดได้ หากไวรัสคล้ายปี 2461 อุบัติขึ้นใหม่
 
                      การศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งทำในห้องแล็บที่มีการรักษาความปลอดภัยด้านชีวภาพสูงสุดอันดับสอง
พบว่าเมื่อไวรัสกลายพันธุ์ 7 อย่าง จะสามารถแพร่จากสัตว์หนึ่งไปสัตว์อีกตัวอย่างง่ายดาย บ่งว่าเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว
อาจทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างในมวลมนุษย์ได้  ฉะนั้น การเข้าใจกลไกเกี่ยวข้องกับการปรับตัว และบ่งชี้
การกลายพันธุ์ จึงมีความสำคัญต่อการปรับปรุงวิธีการรับมือ
 
                      ประเด็นคือจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องฟื้นชีพไวรัสมรณะนี้ขึ้นมา เพื่อเข้าใจความเสี่ยงหรือเสี่ยง
ยิ่งกว่าเดิม
 
                      ฝ่ายวิจารณ์ประณามว่า เป็นการศึกษาที่ไร้สติและบ้าบิ่น เป็นความทะยานอยากส่วนตนของ
นักวิทยาศาสตร์ ประโยชน์ที่บอกว่าจะได้รับจากความพยายามสร้างไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปน ฟังไม่ขึ้นเมื่อ
พิจารณาถึงความเสี่ยงหากไวรัสที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมชนิดใดชนิดหนึ่ง เกิดหลุดรอดจากห้องแล็บ
ออกมาข้างนอกทั้งเจตนาและไม่ตั้งใจ ทำให้เกิดการระบาดในวงกว้าง และเรียกร้องให้ผู้วิจัยหยุดเสีย
 
                      แต่ศาสตราจารย์โยชิฮิโร คาวาโอกะ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ยืนยันว่าการวิจัย
ของเขานั้น คือเพื่อการบอกว่า การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่และมาตรการรับมืออื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง
จากไวรัสไข้หวัดใหญ่ระบาดในอนาคต มีความจำเป็นแค่ไหน และผลการศึกษานี้จะช่วยให้ผู้ที่มีหน้าที่
วางมาตรการความพร้อมรับมือและเฝ้าระวัง ตัดสินใจได้ดีจากข้อมูลวิทยาศาสตร์รองรับ แทนการคาดเดา
ดังนั้นการวิจัยจึงยังประโยชน์ที่สำคัญและไม่อาจบรรลุได้ด้วยวิธีการอื่น พร้อมยืนยันว่า ทีมวิจัยไม่ได้
เพิกเฉยความเสี่ยง แต่มั่นใจว่าสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
                      ศาตราจารย์คนเดียวกันนี้ถูกโจมตีมาก่อนแล้วจากการศึกษาเพิ่มขีดความสามารถในการ
แพร่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ เอช5เอ็น1 ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อมีอัตราการตายสูงแต่ไม่แพร่จากคนสู่คนง่ายนัก
 
                      มาร์ค ลิปชติทช์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การสร้าง
ไวรัสในจินตนาการที่รุนแรงและแพร่ง่ายในมนุษย์ เป็นกิจกรรมเสี่ยงเกินไป แม้แต่ในห้องแล็บปลอดภัยที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรเสี่ยงโดยปราศจากหลักฐานชัดเจนพอว่าผลวิจัยอาจช่วยชีวิตคนได้ แต่การศึกษานี้
ยังขาดหลักฐานนั้น
 
                      ด้าน รอเบิร์ต โคลเทอร์ ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา ส่วนไซมอน แวน ฮ็อบสัน
นักไวรัสวิทยา สถาบันปาสเตอร์ ในกรุงปารีส กล่าวว่าการศึกษาไม่ได้ให้อะไรแก่มนุษย์มากนัก
ความเสี่ยงที่ไวรัสจะหลุดออกนอกห้องแล็บมีน้อยแต่ไม่ใช่เป็นศูนย์ ส่วนตัวก็มองไม่เห็น
ประโยชน์ที่ได้เช่นกัน

ภาพและข้อมูลจาก http://www.komchadluek.net/