วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เชียงดา....สมุนไพรเมืองเหนือ

เป็นคนที่ชอบดื่มชาสมุนไพรต่างๆ ค่ะ  แต่จะเก็บไว้อ่านคนเดียวก็กะไรอยู่ เลยนำมาเผยแพร่ต่อค่ะสำหรับคนที่ดูแลสุขภาพค่ะ

“เชียงดา” ผักพื้นบ้านที่นิยมปลูกกันในพื้นที่ภาคเหนือ ภาษาคำเมืองเรียกว่า “เซี่ยงดา หรือ เซ่งดา” เป็นพืชประเภทไม้เถา มีน้ำยางใส ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบ สีเหลืองอมส้ม ผักพื้นบ้านชนิดนี้ มีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับการช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แก้อาการท้องผูก  และนิยมกินในหน้าร้อน เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย
วิสาหกิจชุมชนสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ริเริ่มนำใบเชียงดามาแปรรูป เป็นเชียงดาอบแห้ง เป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
นางมุฑิตา สุวรรณคำขาว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้น กลุ่มสตรีแม่บ้านในตำบลดังกล่าว มีอาชีพรับจ้าง, ทำการเกษตร และร่วมกันทำดอกไม้ประดิษฐ์แห้งเพื่อสร้างรายได้  ให้แก่ครอบครัว ต่อมาได้รับการฝึกอาชีพการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร จึงคิดทดลองทำเชียงดาอบแห้ง ซึ่งหลังจากแปรรูปเชียงดาแล้ว ได้อบแห้งเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มชาเชียงดารับประทาน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี
ปัจจุบันมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหา พนมีสมาชิกในกลุ่ม 70 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน และสมาชิกทุกบ้านได้ปลูกต้นเชียงดาเพื่อส่งจำหน่ายให้กับทางกลุ่ม โดยมีตัวแทนของกลุ่มคอยตรวจสอบคุณภาพของใบเชียงดาของสมาชิกเพื่อให้มีความปลอดภัยปลอดจากสารเคมี ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชในการปลูก แต่จะใช้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาแนะนำให้ผลิตใช้เอง โดยการนำผลมะละกอ ชมพู่ มะม่วง กากน้ำตาลมาหมัก จนเข้าที่กลายเป็นน้ำหมักชีวภาพแล้วนำมาฉีดบำรุงต้นเชียงดาและไล่แมลงศัตรูพืช ส่วนปุ๋ยบำรุงดินนั้นจะใช้หญ้าที่ถากแล้ว มาคลุมบริเวณโคนต้นแล้วราดน้ำหมักชีวภาพตาม ก็ทำให้ใบเชียงดาเจริญงอกงาม และปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค
ในแต่ละวันสมาชิกจะเริ่มเก็บใบเชียงดา ตั้งแต่ตี 5 ถึง 9 โมงเช้า เลือกเก็บเฉพาะใบสามคู่ จากนั้นจะมารวมกันเพื่อเริ่มขั้นตอนกระบวนการผลิตเป็นสมุนไพรแปรรูป  เป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย กระบวนการแปรรูป เริ่มจากการนำใบเชียงดาที่เก็บได้มาล้างน้ำ จากนั้นนำมาวางให้สะเด็ดน้ำแล้วจึงหั่นให้เป็นฝอย จากนั้นนำไปตากให้แห้งจนใบกรอบ จึงนำมาคั่ว แล้วค่อยสับเสร็จแล้วตำให้แหลก ก่อนจะบรรจุลงในถุงซิป เป็นผลิตภัณฑ์ชาจากใบเชียงดา
หลังจากประสบความสำเร็จจากการแปรรูปใบเชียงดาเป็นชา สมุนไพรชงพร้อมดื่มแล้ว ทางกลุ่มยังได้จัดทำเป็นแบบแคปซูล เพื่อสะดวกสบายในการพกพาให้กับผู้บริโภค ซึ่งการทำแคปซูลสมุนไพรใบเชียงดา จะทำกรรมวิธีคล้ายกับการทำเป็นผงชา แต่จะเพิ่มขั้นตอนสุดท้าย ภายหลังจากการคั่วสับแล้ว จะนำไปบดให้เป็นผงละเอียดแล้วจึงบรรจุลงในเม็ดแคปซูล ก่อนจะบรรจุใส่กล่องต่อไป
นอกจากนี้ยังมีหมอนสมุนไพร เป็นหมอนหนุนเพื่อสุขภาพ คลายความปวดเมื่อยต้นคอ ซึ่งได้นำใบเชียงดาที่แห้งแล้วมายัดลงในผ้าที่ตัดเย็บเป็นรูปหมอน โดยใช้ใบเชียงดา แห้ง 1 กิโลกรัมและใบเตยแห้งอีกส่วนหนึ่งในปริมาณ 10% บรรจุรวมกันเป็นหมอน 1 ใบ ซึ่งหมอนสมุนไพรนี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ซึ่งเป็นโครงการในพระดำริ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี  2553 อีกด้วย

ทำงานแต่ในตึก รู้วิธีป้องโรค Sick Building Syndrome ด้วยตัวเอง

มารู้เรื่องโรคของคนทำงานในตึกหรือในอาคารที่เป็นที่ทึบๆที่เขาเรียนว่า Sick building  Syndrome กันดีกว่า
ชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครแห่งนี้อาจไม่ต่างกันเท่าไรนัก ชีวิตประจำวันก็คือ การขลุกอยู่ในอาคารนั้นที อาคารนี้ที ตื่นแต่เช้ามาทำงาน เจอผู้คนที่เดินขวักไขว่เบียดเสียดไปมา รถราเต็มเมือง เย็น ๆ เดินห้าง กินข้าว ช้อปปิ้ง ตกค่ำกลับคอนโดฯ หรือไปปาร์ตี้กลางดึก แม้จะได้ออกไปเดินเล่นบ้าง แต่อากาศก็ไม่บริสุทธิ์ เราใช้ชีวิตแบบนี้กันอย่างเคยชิน แต่รู้ไหมว่าชีวิตที่อยู่ในอาคารมาก ๆ แบบนี้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค Sick Building Syndrome (SBS) หรือโรคป่วยอาคารสูงเป็นอย่างมาก หลายคนอาจยังไม่คุ้นชินกับชื่อโรคนี้ แต่สาว ๆ จ๊ะ รู้ไว้ใช่ว่า

SBS?
Sick Building Syndrome (SBS) คือ ภาวะผิดปกติด้านสุขภาพทางตา จมูก ลำคอ การหายใจส่วนล่าง ผิวหนังและอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นคล้ายกัน ในกลุ่มคนทำงานในอาคารสำนักงานที่มีความเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่อยู่ในอาคาร แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนได้ ปัญหาอาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารหรือกับทุกส่วนของอาคารก็ได้ โดยอาการป่วยดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรค มักเกิดในสำนักงาน แต่อาการจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อออกนอกอาคาร

สาเหตุปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นมาหลังจากได้มีการใช้อาคารแล้วซึ่งอาจเป็นเพราะการดีไซน์อาคารที่ไม่ดีมาตั้งแต่แรกหรือการมีระบบดูแลรักษาอาคารที่ไม่ได้ประสิทธิภาพแต่อีกเหตุผลที่เป็นไปได้คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในอาคารเองก็มีส่วนทำให้อะไร ๆ ดูแย่ลงได้

อากาศถ่ายเทไม่เพียงพอ โดยเฉพาะระบบปรับอากาศและระบายอากาศ ทำให้ปริมาณอากาศภายนอกที่เข้าไปแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกับอากาศภายในอาคารลดลง

มีสารเคมีฟุ้งกระจายภายในอาคารในปริมาณสูงแหล่งของสารเคมีที่พบบ่อยคือกาวน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบของสารฟอร์มาลดีไฮด์ การทำงานเกี่ยวกับอุปกรณ์หรือวัสดุที่เป็นไม้ เครื่องถ่ายเอกสาร ปริ๊นเตอร์ ยาฆ่าแมลง ควันบุหรี่ในอาคาร เตาอบที่ใช้แก๊ส รวมถึงสารระเหยจากสีทาผนัง ไม้อัด สารเคลือบเงาทั้งหลายหรือรังสีจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาไมโครเวฟ

สารเคมีจากภายนอกอาการ เช่น ก๊าซจากรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ควันจากการปรุงอาหารประกอบกับการถ่ายเทอากาศภายในที่ไม่เพียงพอ

สารชีวภาพ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส รา ละอองเกสร มูลนก สารเหล่านี้มักปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ฝ้าเพดานที่ขึ้น ฝุ่นในพรม เชื้อโรคจากมด ปลวก และแมลงสาบ นอกจากนี้อาจเป็นเพราะคนในอาคารแออัดมากเกินไป แล้วไอหรือจามไว้ทำให้เชื้อโรคกระจายเวียนวนอยู่ในตึก

อาการ
ผู้อาศัยในอาคารมีอาการไม่สบายอย่างเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะ ระคายเคือง ตา จมูก หรือลำคอ จาม น้ำมูกไหล คันตามผิวหนัง หน้ามืด คลื่นไส้ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ไวต่อกลิ่นมากขึ้น หดหู่ อ่อนเพลีย ง่วงนอน

สำหรับคนที่แพ้ง่ายหรือคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการแพ้จะกำเริบมากขึ้น ที่พบบ่อยคือ แพ้ไรฝุ่น เชื้อรา เชื้อจากแมลงสาบ ทำให้มีอาการไอ จามที่รุนแรงขึ้นจนถึงขั้นหอบ

มีเหตุแก้เหตุ กำจัดแหล่งสารปนเปื้อน เช่น จัดระบบบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ และระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดไส้กรองอากาศอยู่เป็นประจำ ทำความสะอาดพรมหรือเพดานที่ขึ้น เก็บสารระเหยอย่างมิดชิดไว้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท และเปิดใช้ในช่วงเวลาที่ไม่มีคนทำงาน หากเป็นอาคารใหม่ ควรมีช่วงเวลาที่ให้อากาศหรือก๊าซจากการตกแต่งระเหยออกไปก่อนเข้าใช้อาคาร กำหนดบริเวณในการสูบบุหรี่ซึ่งต้องมีอากาศถ่ายเทได้

ลดปริมาณมูลภาวะทางอากาศ เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นกำเนิดของไอระเหยที่เป็นพิษให้น้อยที่สุด (ค่า VOCs ต่ำ) หรือเลือกวัสดุอื่นทดแทน เช่น ใช้สีทาผนังแบบที่ไม่มีโลหะหนักผสม ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้จริง หรือใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้อัดแบบที่ปล่อยไอระเหยน้อยกว่าปกติ

ควบคุมสิ่งแวดล้อมในอาคารให้มีอากาศหมุนเวียนจากภายนอกอาคารบ้างควรให้แสงแดดส่องเข้ามาในห้องหรือเปิดหน้าต่างตอนที่ปิดแอร์เพื่อให้อากาศที่ค้างอยู่ในตึกระบายออกไป

เพิ่มระบบการถ่ายเทอากาศ โดยเฉพาะบริเวณที่มีสารเคมีระเหยออกมาได้ เช่น ห้องน้ำ ห้องถ่ายเอกสารหรือห้องที่มีปริ๊นเตอร์ ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องกำจัดกลิ่นควัน

ทำความสะอาดอาคาร เครื่องเรือน ดูดฝุ่น ตามพรม หรือซักผ้าม่านให้บ่อยขึ้น เพื่อไม่ให้มีไรฝุ่นเกาะสะสม

เครื่องปรับอากาศ ไม่ควรมีน้ำรั่ว จะเกิดเชื้อราตามพื้น ฝาผนัง ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดถูตามพื้นอาคารและเครื่องเรือนใช้น้ำยาพ่น กำจัดเชื้อรา ไวรัส และแบคทีเรีย หลังเวลาใช้งาน

หลีกเลี่ยงการตากผ้าเปียกในอาคาร

ไม่ควรทิ้งขยะค้างคืนไว้ในสำนักงานเพราะจะเป็นอาหารของแมลงสาบ

หาต้นไม้ในร่มมาปลูกและตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ในห้องเพื่อช่วยฟอกอากาศ และลดปริมาณสารพิษ ยิ่งถ้าเป็นไม้ประดับที่ดูดสารพิษได้ก็ยิ่งเริ่ด

ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ใช้อาคารซึ่งจะเป็นวิธีป้องกันที่ยั่งยืนที่สุด

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าร้อยละ30ของอาคารสำนักงานใหม่หรือที่มีการปรับปรุงจะพบกลุ่มอาการป่วยเหตุอาคารขณะเดียวกันพบว่า ร้อยละ 20-35 ของผู้ทำงานในอาคารสำนักงานที่ไม่มีปัญหาเรื่องคุรภาพอากาศภายในอาคาร สามารถพบอาการของกลุ่มอาการป่วยเหตุอาคารได้เช่นกัน และผู้ทำงานในอาคารสำนักงานเก่าจะปรากฏอาการมากกว่า อาคารสำนักงานใหม่


หญิงเสี่ยงกว่าชาย
มีรายงานว่า อัตราการเกิดโรคป่วยอาคารสูงนั้น ส่วนใหญ่เป็นมากในผู้หญิง เนื่องจากผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าผู้ชายและยังมีแนวโน้มที่เกิดอาการปากแห้งคอแห้งหรือผื่นแพ้บนผิวหนังมากกว่าผู้ชายอีกด้วยสาวๆส่วนใหญ่มักทำงานอยู่ในออฟฟิศ ทำให้มีโอกาสจะเจอกับมลพิษในอาคารได้บ่อยกว่า เนื่องจากผู้ชายโดยเฉพาะแล้วจะทำงานนอกสถานที่ซะมากกว่านั่นเอง


ขอขอบคุณ http://www.prachachat.net

อดอาหารเช้าให้ระวัง อัลไซเมอร์

คุณรู้หรือไม่ว่าอดอาหารเช้าไม่ดี  จริงแล้วทุกคนจะรู้  แต่งานนี้อาจส่งผลถึงขั้น อัลไซเมอร์เลย น่ากลัวนะ ส่งผลร้ายแรงขนาดนี้เลย  ลองอ่านดูเองก็แล้วกันนะ  ทนอ่านหน่อยนะ เพราะว่า ยาวมากๆ  แต่มีประโยชน์นะ

ชีวิตคนในเมืองใหญ่ เมืองหลวง เมืองกรุง ที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา การอดอาหารเช้าถือเป็นเรื่องธรรมดา

นอกจากจะทำให้ไม่ต้องเสียเวลาตระเตรียมอาหารเช้าให้มากความ ยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่า อาหารเช้าเป็นเรื่องเล็กน้อย รวบไปกินมื้อเที่ยงไปเลยก็ได้ น้ำหนักจะได้ลดลงไปอีกนิด

แต่ในความเป็นจริง การอดอาหารเช้าไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายรู้สึกไม่สดชื่น ขาดความกระตือรือร้น ความจำไม่ดี ฯลฯ ยังเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม! 

ขณะที่วิทยาการทางการแพทย์เจริญรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น แต่ถ้าเราไม่รีบดูแลร่างกาย (สมอง) เสียแต่วันนี้ ในอนาคตข้างหน้า เราอาจจมอยู่ในภาวะสมองเสื่อม 

...ที่ไม่ได้หมายความเพียงแค่อาการ "หลงลืม" แต่ "ไม่เหลือความทรงจำ" อยู่เลย 

ฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้วทุกอย่างจะย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้น เช่น ลืมแม้กระทั่งวิธีการเดิน การเคี้ยวอาหาร การกลืนอาหาร ฯลฯ และที่สุดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

อีก 3 ปี ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่อีก 8 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมรับมือเสียแต่วันนี้

ทั้งนี้ รายงานขององค์การโรคอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศเมื่อปี 2553 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน อยู่ในเอเชียอาคเนย์ 2.4 ล้านคน 

พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม อธิบายให้ฟังถึงสถานการณ์ของผู้ป่วยสมองเสื่อมในปัจจุบันว่า จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยมี 10% ของประชากรทั้งหมด และ 10% ของประชากรผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม

นั่นคือ ผู้ป่วยสมองเสื่อมในประเทศไทยมี 1% ของประชากรทั้งหมด (กว่า 60 ล้านคน) เท่ากับประมาณ 600,000 กว่าคน

ขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบสัดส่วนของผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 12 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 17 ในอีก 8 ปีข้างหน้า หมายความว่า อีก 8 ปีข้างหน้าเราจะมีจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมมากขึ้นตามไปด้วย 
สาเหตุของสมองเสื่อมมีด้วยกันหลายปัจจัย ทั้งจากสมองโดยตรงคือ เนื้อสมองตาย ซึ่งปัจจุบันพบคนไข้ที่สมองเสื่อมด้วยสาเหตุนี้ 50-60% ของคนไข้ทั้งหมด

หนึ่งในโรคที่เกิดจากสมองเสื่อมที่รู้จักกันดีคือ "อัลไซเมอร์" เกิดจากการ "เสื่อมสลาย" ของสมอง เพราะเซลล์ที่เคยมีอยู่มากมายในสมองเพื่อทำหน้าที่เรื่องการเรียนรู้การจดจำ สูญเสียความสามารถนั้นไป 

ในคนไข้ที่เป็นอัลไซเมอร์ พื้นที่ที่คุมเรื่องความรู้ความจำความสามารถจะสูญเสียความสามารถนั้นไป ทำให้สูญเสียความสามารถในหลายเรื่องๆ 

ปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อม เช่น หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองผิดปกติ ถ้าเส้นเลือดที่คุมแขนขาเสียก็จะเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ แต่ถ้าเป็นเส้นเลือดที่คุมในส่วนของพื้นที่ที่ควบคุมความรู้ความจำความสามารถ ก็จะเกิดอาการสมองผิดปกติ

นอกจากนี้ สาเหตุจากความดันโลหิต เบาหวาน สูบบุหรี่ อ้วน ไขมันสูง และยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การติดเชื้อ การขาดสารอาหาร ฯลฯ 

อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ก็จริง คนที่มีพ่อและแม่เป็นอัลไซเมอร์จะมีโอกาสที่จะเป็นอัลไซเมอร์สูงมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นแน่นอน เพราะอาจมียีนส์ตัวอื่นที่กดไว้ 

พญ.สิรินทรเล่าเพิ่มเติมว่า ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยมากจะปรากฏอาการความจำสับสน เช่น ใส่เข็มขัด 2 เส้น ใส่บราเซีย 3 ตัว ใส่รองเท้าคนละข้าง หรือใส่ถุงเท้าข้างเดียว ฯลฯ โดยความจำในส่วนของใกล้ๆ จะค่อยๆ หายไป เช่น จำลูกตัวเองไม่ได้ จำไม่ได้ว่าตัวเองเคยแต่งงาน คือความจำจะถอยกลับไปยังจุดเริ่มต้นของชีวิตเรื่อยๆ

"ถ้าได้ยาตั้งแต่ต้นๆ จะสามารถชะลออาการให้คงที่อยู่ได้นาน หลายรายดูจากภายนอกแทบไม่ออก เพราะยังทำอะไรได้ แต่ลูกๆ และคนดูแลใกล้ตัวต้องเตือนหลายครั้ง แต่อัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาไม่หาย"

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อีกวิธีการหนึ่งคือ การกระตุ้นการทำงานของสมอง คุณหมอสิรินทร บอกว่า ในครอบครัวเองต้องให้ความเข้าใจ และสิ่งที่สำคัญคือ "ให้คนไข้ได้ทำกิจกรรมในสังคม" เช่น พาไปเจอพี่เจอน้อง 
"คนไทยชอบสูตรสำเร็จ มักจะถามว่าจะให้คนไข้ทำอะไรดี เราบอกไม่ได้ เพราะคนไข้แต่ละคนมีกิจกรรมไม่เหมือนกัน บางคนเย็บผ้าได้ บางคนชอบทำกับข้าว ฉะนั้น เราแนะนำได้เพียงให้คนไข้ทำสิ่งที่คุ้นเคย เพื่อให้ยังทำได้ต่อไปให้นานที่สุด แต่ต่อไปข้างหน้ามันก็จะค่อยๆ เสียไป"

แม้ว่าอาการสมองเสื่อมจะพบในคนสูงอายุ คือ อายุตั้งแต่ 60 ปีเป็นต้นไป แต่การจะเริ่มต้นดูแลสุขภาพกาย สุขภาพสมองเสียแต่วันนี้ย่อมเป็นการดี 

ทั้งนี้ คุณหมอสิรินทรบอกว่า 3 ขั้นตอนของการดูแลรักษาและพัฒนาสมองเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมว่า ขั้นแรกคือ เริ่มจากการกินดีอยู่ดี 

"สมองไม่เหมือนกับร่ายกายในส่วนอื่นที่จะมีสต๊อกเลือดที่หล่อเลี้ยงตลอดเวลา แต่ขึ้นอยู่กับการส่งเลือดมาเลี้ยงโดยตรง ฉะนั้น สมองจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดที่มาเลี้ยงพอเพียง น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำจะมีผลต่อสมอง ทำให้อารมณ์ความคิดของเรา ในคนอายุมาก เวลาหิวมากๆ ไม่ใจสั่น แต่จะง่วง เพราะมันจะปิดสวิตช์เลย ฉะนั้นในคนสูงอายุถ้าน้ำตาลตกก็จะซึมกะทือ

"ฉะนั้น การอดอาหารเช้าสำคัญมาก เพราะระดับน้ำตาลที่น้อยลงทำให้เซลล์สมองบางตัวหยุดทำงาน โดยที่เราไม่รู้ว่ามันหยุดไปแล้ว"

นอกจากปริมาณน้ำตาลแล้ว สมองยังต้องการออกซิเจนเยอะมาก คือ 1 ใน 4 ของออกซิเจนที่ร่างกายได้รับจะไปเลี้ยงสมอง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมคนเราเมื่อสมองขาดออกซิเจนนานกว่า 5 นาที มีโอกาสกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา

ว่ากันว่า การฝึกจิต-นั่งสมาธิ ช่วยให้ความจำดี เรื่องนี้คุณหมอเฉลยว่า คนเราจะจำได้ดีหรือจำไม่ได้ดีนั้น ?จิต? เป็นสำคัญ ถ้าจิตถูกครอบงำด้วยเรื่องอื่นที่เป็นทุกข์ ความเสียใจ ความคับแค้น ย่อมไม่มีสมาธิที่จะจดจำสิ่งใด ฉะนั้น ควรฝึกทำให้จิตดี จิตเป็นบวก ลดละเลี่ยงสิ่งที่ทำลายจิต 

ถ้าเราตั้งใจที่จะจำ สมองจำได้ อย่างตัวเลข7 หลัก ของเบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งตัวเลข 13 หลักของเลขประจำตัวประชาชน 

"ทำไมเบอร์โทรศัพท์จึงกำหนดให้เป็นเลข 7 หลัก นั่นเพราะ นี่คือความสามารถของสมองโดยไม่ต้องพยายามเลย เพียงแต่ว่าแต่ละคนมีเทคนิคการจำที่ต่างกัน บางคนจำเป็น ?ตัวเลข? บางคนจำเป็น ′ภาพ′ ซึ่งในสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมจะใช้ตัวเลขเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกเพื่อ ?พัฒนา? สมองให้กับผู้ป่วยร่วมกับวิธีการอื่นๆ ทั้งการเล่นเกมด้วย

"เรื่องการนอนก็สำคัญ การนอนน้อยไม่มีงานวิจัยที่ไหนยืนยันว่าทำให้สมองเสื่อม แต่การนอนน้อยมีผลต่อความจำแน่นอน แม้ว่าจะอดนอนเพื่อติวหนังสือไปสอบ จำได้ แต่จำได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ มันไม่สามารถเป็นความจำถาวรได้"
 ข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th

สุขภาพ สุขภาพ

แหล่งรวบรวมขอมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งการกิน การออก กำลังกาย การดูแลตัวเอง   และอื่นๆที่จะทำให้เราสุขภาพดี แม้ไม่ดีที่สุดแต่ก็ดีกว่า นั่งอยู่เฉยๆแน่นอน