วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เชียงดา....สมุนไพรเมืองเหนือ

เป็นคนที่ชอบดื่มชาสมุนไพรต่างๆ ค่ะ  แต่จะเก็บไว้อ่านคนเดียวก็กะไรอยู่ เลยนำมาเผยแพร่ต่อค่ะสำหรับคนที่ดูแลสุขภาพค่ะ

“เชียงดา” ผักพื้นบ้านที่นิยมปลูกกันในพื้นที่ภาคเหนือ ภาษาคำเมืองเรียกว่า “เซี่ยงดา หรือ เซ่งดา” เป็นพืชประเภทไม้เถา มีน้ำยางใส ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบ สีเหลืองอมส้ม ผักพื้นบ้านชนิดนี้ มีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับการช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แก้อาการท้องผูก  และนิยมกินในหน้าร้อน เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย
วิสาหกิจชุมชนสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ริเริ่มนำใบเชียงดามาแปรรูป เป็นเชียงดาอบแห้ง เป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
นางมุฑิตา สุวรรณคำขาว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้น กลุ่มสตรีแม่บ้านในตำบลดังกล่าว มีอาชีพรับจ้าง, ทำการเกษตร และร่วมกันทำดอกไม้ประดิษฐ์แห้งเพื่อสร้างรายได้  ให้แก่ครอบครัว ต่อมาได้รับการฝึกอาชีพการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร จึงคิดทดลองทำเชียงดาอบแห้ง ซึ่งหลังจากแปรรูปเชียงดาแล้ว ได้อบแห้งเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มชาเชียงดารับประทาน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี
ปัจจุบันมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหา พนมีสมาชิกในกลุ่ม 70 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน และสมาชิกทุกบ้านได้ปลูกต้นเชียงดาเพื่อส่งจำหน่ายให้กับทางกลุ่ม โดยมีตัวแทนของกลุ่มคอยตรวจสอบคุณภาพของใบเชียงดาของสมาชิกเพื่อให้มีความปลอดภัยปลอดจากสารเคมี ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชในการปลูก แต่จะใช้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้ามาแนะนำให้ผลิตใช้เอง โดยการนำผลมะละกอ ชมพู่ มะม่วง กากน้ำตาลมาหมัก จนเข้าที่กลายเป็นน้ำหมักชีวภาพแล้วนำมาฉีดบำรุงต้นเชียงดาและไล่แมลงศัตรูพืช ส่วนปุ๋ยบำรุงดินนั้นจะใช้หญ้าที่ถากแล้ว มาคลุมบริเวณโคนต้นแล้วราดน้ำหมักชีวภาพตาม ก็ทำให้ใบเชียงดาเจริญงอกงาม และปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค
ในแต่ละวันสมาชิกจะเริ่มเก็บใบเชียงดา ตั้งแต่ตี 5 ถึง 9 โมงเช้า เลือกเก็บเฉพาะใบสามคู่ จากนั้นจะมารวมกันเพื่อเริ่มขั้นตอนกระบวนการผลิตเป็นสมุนไพรแปรรูป  เป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย กระบวนการแปรรูป เริ่มจากการนำใบเชียงดาที่เก็บได้มาล้างน้ำ จากนั้นนำมาวางให้สะเด็ดน้ำแล้วจึงหั่นให้เป็นฝอย จากนั้นนำไปตากให้แห้งจนใบกรอบ จึงนำมาคั่ว แล้วค่อยสับเสร็จแล้วตำให้แหลก ก่อนจะบรรจุลงในถุงซิป เป็นผลิตภัณฑ์ชาจากใบเชียงดา
หลังจากประสบความสำเร็จจากการแปรรูปใบเชียงดาเป็นชา สมุนไพรชงพร้อมดื่มแล้ว ทางกลุ่มยังได้จัดทำเป็นแบบแคปซูล เพื่อสะดวกสบายในการพกพาให้กับผู้บริโภค ซึ่งการทำแคปซูลสมุนไพรใบเชียงดา จะทำกรรมวิธีคล้ายกับการทำเป็นผงชา แต่จะเพิ่มขั้นตอนสุดท้าย ภายหลังจากการคั่วสับแล้ว จะนำไปบดให้เป็นผงละเอียดแล้วจึงบรรจุลงในเม็ดแคปซูล ก่อนจะบรรจุใส่กล่องต่อไป
นอกจากนี้ยังมีหมอนสมุนไพร เป็นหมอนหนุนเพื่อสุขภาพ คลายความปวดเมื่อยต้นคอ ซึ่งได้นำใบเชียงดาที่แห้งแล้วมายัดลงในผ้าที่ตัดเย็บเป็นรูปหมอน โดยใช้ใบเชียงดา แห้ง 1 กิโลกรัมและใบเตยแห้งอีกส่วนหนึ่งในปริมาณ 10% บรรจุรวมกันเป็นหมอน 1 ใบ ซึ่งหมอนสมุนไพรนี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ซึ่งเป็นโครงการในพระดำริ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี  2553 อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น