วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

'นอนกรน-หยุดหายใจ'ทำร่างกายขาดออกซิเจน




'แพทย์มช.' เตือนภัยเงียบจากการ 'นอนกรน-หยุดหายใจ' ระบุทำร่างกายรับออกซิเจนไม่เพียงพอ ชี้หากเกิดในเด็กจะทำให้พัฒนาการทางสมองและร่างกายไม่ดี-เสี่ยง 3 โรค


                       เมื่อ26 เม.ย.56 ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปกติจะพบการนอนกรนร้อยละ 20 ของคนทั่วไป ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งการนอนกรนเป็นเสียงที่เกิดจาการสั่นสะเทือนของอวัยวะทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย และลิ้น เมื่อมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นทำให้ลมหายใจผ่านลงไปไม่สะดวก เกิดการหมุนวนของกระแสลม และอวัยวะของทางเดินหายใจสั่นสะเทือนจึงเกิดเสียงกรนขึ้น

                       ประเภทของการนอนกรน
                       โดยการนอนกรนมีทั้งหมด 2 ประเภท คือ 1.การนอนกรนธรรมดา มีการตีบแคบลงของทางเดินหายใจขณะนอนหลับบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดเสียงรบกวนแก่ผู้ร่วมห้องนอน จัดเป็นชนิดไม่อันตราย ส่วนประเภทที่ 2.การนอนกรนที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย เนื่องจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะนอนหลับทำให้เกิดการหยุดหายใจ จึงทำให้เสียงกรนไม่สม่ำเสมอ อาจมีการสะดุ้งตื่น กลั้นหายใจ หายใจแรงหรือสำลักร่วมด้วย ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

                        ผลเสียของการนอนกรน
                       โดยผลเสียจากการนอนกรนที่มีการหยุดหายใจร่วมจะทำให้ง่วงนอนตอนกลางวัน มีผลต่อการเรียน การทำงานหรืออาจเกิดอุบัติเหตุในการขับรถหรือควบคุมเครื่องจักรกล ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง หงุดหงิดอารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ หากเกิดในเด็กจะมีพัฒนาการของสมองและร่างกายไม่ดี มีโอกาสเสี่ยงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

                       การป้องกันหรือแก้ไข
                     ผศ.พญ.นันทิการ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการรักษาการนอนกรนนั้นทำได้หลายทาง ทั้งการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ด้วยการจำกัดปริมาณและชนิดอาหาร การออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้ง่วง เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท และยาแก้แพ้ชนิดง่วง และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
                       นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายให้นอนในท่าตะแคงข้างและนอนศีรษะสูงเล็กน้อยแทน การรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และไซนัสอักเสบ การรักษาด้วยการจี้คลื่นความถี่วิทยุ (RF) เพื่อให้เนื้อเยื่อของทางเดินหายใจหดตัวลงและทางเดินหายใจกว้างขึ้น รวมทั้งการผ่าตัดทอนซิลและอะดีนนอยด์ในเด็กที่มีต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต

ภาพและข้อมูลจาก http://www.komchadluek.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น