วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

เคล็ดไม่ลับสู้แดด



เหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพวกเราชาวไทยไปเสียแล้ว ที่มักจะอาศัยช่วงวันหยุดยาว พากันไปเที่ยวรับลมร้อนในเดือนเมษาพาเพลิน ยิ่งแดดแรง ฟ้าใส วิวสวย บรรยากาศเป็นใจชวนให้ถ่ายรูปอัพเฟซบุ๊ค หรือ อินสตาแกรม ก็ยิ่งโพสท่าถ่ายเพลินจนลืมไปว่า รังสียูวีจากแสงแดด ทำอันตรายต่อผิวของเราได้เพียงใด อ่านบทความนี้กันสักนิด ก่อนจะไปเที่ยวท้าแดด รับรองว่าจะช่วยให้คุณเที่ยวได้เพลิน แต่ไม่เกินเลยจนผิวพังได้ค่ะ
 
แสงแดดอันตรายเพียงใด

รูปถ่ายข้างบนเป็นรูปถ่ายจากวารสาร The New England Journal of Medicineที่ ว่ากันว่า รูปถ่ายอธิบายได้ดีกว่าคำพูดนับพัน รูปถ่ายของคุณลุงชาวอเมริกันในวัย 66 ปีผู้นี้ น่าจะอธิบายถึงอันตราย
ของแสงแดดที่มีต่อผิวได้กระจ่าง คุณลุงทำงานเป็นคนขับรถส่งนมในชิคาโกเป็นเวลา 28 ปี โดยใบหน้าด้านซ้ายจะเป็นด้านที่ถูกแดด ในขณะที่ใบหน้าด้านขวาเป็นด้านที่ไม่ถูกแดด และแน่นอนว่า คุณลุงไม่เคยทาครีมกันแดดเลย ภาพของคุณลุงถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของผิวที่เกิดจากรังสียูวี โดยจะเห็นได้ชัดว่าใบหน้าด้านที่ถูกแสงแดดมีรอยเหี่ยวย่น สีผิวออกโทนเหลือง ลักษณะผิวหยาบกร้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆซึ่งเกิดจากการทำลายของรังสียูวีตรงตามในตำรา โดยคุณลุงยินยอมให้แพทย์เผยแพร่รูปนี้ต่อสาธารณะเพื่อเป็นวิทยาทาน

เลือกและทาครีมกันแดดอย่างไร
 
ควรเลือกครีมกันแดดที่ปกป้องได้ทั้งรังสียูวีบีและยูวีเอ โดยดูจากค่า SPF ซึ่งบ่งถึงความสามารถในการปกป้องรังสียูวีบี ควรอยู่ที่ 30 และค่า PA ซึ่งบ่งถึงความสามารถในการปกป้องรังสียูวีเอ ควรอยู่ที่ +++ จำง่ายๆคือ สามสิบและสามบวกปริมาณที่เหมาะสมในการทาครีมกันแดดตามทฤษฏีคือ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งเราสามารถปรับเป็นในทางปฏิบัติโดยใช้กฏฝาจีบ วิธีการคือ นำฝาจีบ(ที่ใช้กับขวดน้ำอัดลม หรือ ขวดโซดา) มาล้างให้สะอาด แล้วใช้เป็นเครื่องมือในการตวงครีมกันแดด หลักการคือ ควรทาครีมกันแดดปริมาณครึ่งฝาจีบสำหรับใบหน้าและคอ สำหรับแขนใช้ปริมาณข้างละหนึ่งฝาจีบ ขาข้างละสองฝาจีบ ลำตัวด้านหน้าสองฝาจีบ ด้านหลังอีกสองฝาจีบ อย่างไรก็ดี หลักการนี้คำนวณมาจากคนสูง 173 ซม. ดังนั้นในคนที่ขนาดตัวเล็กกว่า ก็อาจปรับปริมาณให้ลดหลั่นลงมาได้ตามเหมาะสม
 
เลือกครีมที่ใช่ ทาปริมาณที่เหมาะแล้ว อย่าลืมด้วยว่า ต้องทาก่อนออกแดด 20 นาที และทาซ้ำทุกสองชั่วโมงหรือทุกครั้งหลังลงเล่นน้ำ สรุปว่า “อย่าน้อย อย่าช้า และอย่าลืมทาซ้ำ” จึงจะกันดำได้ค่ะ
 
อายุเท่าไรจึงเริ่มใช้ครีมกันแดด
 
ปริมาณแดดที่ทำลายสะสมตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลเสียถึงผิวยามโตขึ้นได้ จึงควรเริ่มต้นทากันแดดให้เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป โดยสามารถทาได้ทั่วตัว ยกเว้นบริเวณรอบดวงตา หากเกรงว่าผิวเด็กจะแพ้,ระคายเคืองง่าย อาจเลือกเป็นครีมกันแดดชนิดฟิสิคัล ซึ่งใช้สารกลุ่มสะท้อนแสง เช่น titanium dioxide, zinc oxide แต่ไม่มีสารเคมีกลุ่มดูดกลืนแสง จึงมีโอกาสแพ้ได้น้อยกว่า ข้อเสียของครีมกันแดดกลุ่มนี้คือ อาจทำให้ผิวดูขาววอกเกินกว่าความเป็นจริงได้
 
ส่วนในเด็กต่ำกว่า 6 เดือน แนะนำให้ใช้หมวก ผ้า ร่ม ป้องกันแดด แต่ยังไม่แนะนำให้ทาครีมกันแดด
 
อายุเท่าไรจึงเลิกใช้ครีมกันแดด
 
คำตอบคือ ไม่มีค่ะ เพราะแม้ในวัยตกกระที่หลายท่านอาจคิดว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องความสวยงามแล้ว ก็ยังแนะนำให้ทาครีมกันแดด เพราะ รังสียูวีไม่ได้มีผลแค่ในเรื่องความสวยงาม แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังได้ด้วย
 
อยู่ใต้ร่มต้องทากันแดดหรือไม่
 
อีกประเด็นเกี่ยวกับแดดที่หลายคนไม่ทราบคือ รังสียูวีจากแดดนั้นสะท้อนได้ ยิ่งพื้นทรายสวยๆ พื้นหิมะขาวๆ รังสียิ่งกระทบชิ่งเข้าใบหน้าเราได้ดี นอกจากนี้ รังสียูวียังรอดผ่านกระจกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระจกรถหรือกระจกหน้าต่างบ้าน ดังนั้นการอยู่ใต้ร่มหรือนั่งอยู่ในห้องก็ยังไม่ปลอดภัย 100% รังสียูวียังรอดผ่านร่ม ทะลุผ่านหน้าต่าง รวมถึงกระทบชิ่งจากพื้นมาเข้าใบหน้าได้ จึงควรทาครีมกันแดดแม้กางร่ม หรือนั่งอยู่ภายในอาคารที่พัก
 
ฟื้นฟูผิวไหม้แดดอย่างไร
 
สำหรับผิวที่แดงไหม้จากแสงแดด รักษาเบื้องต้นโดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบ พยายามอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศเย็นๆ ดื่มน้ำมากๆ อาจใช้ครีมที่มีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้ร่วม อย่าเพิ่งใช้โฟมล้างหน้าที่เป็นสครับ และอย่าเพิ่งใช้ครีมทาหน้าในกลุ่มไวท์เทนนิ่ง ซึ่งอาจมีสารที่ก่อการระคายเคืองในระยะนี้ได้ ควรรอให้ผิวหายไหม้แดดก่อนค่อยเริ่มใช้ หากผิวไหม้มากจนมีตุ่มน้ำใสพุพอง ควรมาพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไปคนไข้ที่น่ารักหลายคนของหมอ มักจะนำขนมมาฝากเวลาไปเที่ยวพักร้อนตามที่ต่างๆ ซึ่งหมอจะดีใจทุกครั้งที่ได้รับ แต่มีอยู่สามอย่างที่หมอบอกเสมอว่าไม่ต้องนำกลับมาฝาก นั่นคือ จุดดำๆที่เรียกว่ากระ ปื้นเปรอะๆที่เรียกว่าฝ้า และผิวหน้าที่ไหม้เกรียมเป็นเนื้อแดดเดียว

ภาพและข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น