วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โรคมือเท้าปาก ระบาดจากคนสู่คน


โรคมือเท้าปาก  กลายเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมที่กำลังสร้างความหวาดวิตกให้แก่ทุกคนในขณะนี้
นับเป็น
โรคระบาดที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน ซึ่งจะมีการระบาดในช่วงฤดูฝน สาเหตุนั้น
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (
enterovirus) ประกอบด้วยหลายสายพันธุ์ย่อย
ที่พบบ่อยได้แก่ สายพันธุ์คอกซากี (
coxackie virus) เอ16, เอ5, เอ9, เอ10, เอ1 และบี3 สายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 71 (human enterovirus 71, HEV71) และ สายพันธุ์ไวรัสเริม (herpes simplex viruses, HSV) 

โรคมือเท้าปาก สามารถติดต่อจาก "คนสู่คน" ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อไวรัสที่ออกมาทางน้ำลาย น้ำมูก
หรืออุจจาระของผู้ป่วย นอกจากนี้การไอจามรดกันสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน
 
อาการของโรคมือเท้าปากในระยะเริ่มแรก คือ มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง
 เจ็บภายในช่องปาก ต่อมาจะเริ่มมีแผลในปาก และผิวหนังตามลำดับ ส่วนมากจะพบบริเวณมือและเท้า
บางครั้งอาจพบบริเวณก้นเด็กได้ ลักษณะเฉพาะของแผลในช่องปาก คือบริเวณฐานของแผล
เป็นสีเหลืองและล้อมรอบด้วยวงสีแดง ส่วนมากเกิดที่บริเวณริมฝีปาก หรือเยื่อบุช่องปาก
แต่บางครั้งแผลอาจเกิดขึ้นบริเวณลิ้น เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล หรือเหงือกได้ โรคนี้มักไม่พบผื่น
บริเวณรอบริมฝีปาก แผลในช่องปากจะมีอาการเจ็บมาก ในเด็กอายุต่ำกว่า
5 ปีจะมีอาการป่วยได้บ่อยที่สุด

การดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ต้องทำอย่างไรบ้าง?
                 ดูแลรักษาตามอาการ เช่น การเช็ดตัวลดไข้ การให้ยาลดไข้ การให้ยาตามอาการ เช่น
ยาชาป้ายแผลในปาก ประเมินภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยเด็ก การประเมินว่า
ร่างกายขาดน้ำหรือไม่ สามารถประเมินได้จากอัตราการเต้นของชีพจร ความยืดหยุ่นของผิวหนัง
ความแห้งของตา ปริมาณน้ำตาขณะที่เด็กร้องไห้ ความแห้งของเยื่อบุช่องปาก รวมถึงประเมิน
จากปริมาณและความถี่ของปัสสาวะ

สังเกตอาการแทรกซ้อน
                การติดเชื้อที่ผิวหนัง พบได้บ่อยที่สุด เกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากดื่มน้อยลงจากการ
เจ็บแผลในช่องปาก ส่วนน้อยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนของระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิต
หากบุตรหลานมีอาการป่วย ควรทำอย่างไร
? ควรแยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น
ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และรักษาตัวที่บ้านอย่างน้อย
5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
                 ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง
 ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบพากลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด
เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก
ควรใช้ผ้าปิดจมูกปากขณะไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน ผู้ดูแลเด็กต้องหมั่นล้างมือให้สะอาด
ทุกครั้งหลังจากสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของเด็กที่ป่วย

หากมีเด็กป่วยจำนวนมากในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรทำอย่างไร ?
                หากพบการระบาดของโรคมือเท้าปาก หรือมีผู้ป่วยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 อยู่ภายใน
โรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก แนะนำให้ปิดชั้นเรียนที่มีเด็กป่วยมากกว่า
2 คน หากมีการป่วยกระจาย
ในหลายชั้นเรียนแนะนำให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา
5 วัน พร้อมทำความสะอาดอุปกรณ์รับประทาน
อาหาร ของเล่นเด็ก ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ และให้มั่นใจว่าน้ำมีระดับคลอรีนที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน

               ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณห้องน้ำ สระว่ายน้ำ
 โรงครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยา
ฟอกขาวผสมในอัตราส่วน
20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตาม
บ้านเรือน แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาด ทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้าง
แล้วผึ่งแดดให้แห้ง ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศ แต่แนะนำให้ระบายอากาศโดยการเปิดประตู
หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ถ้าพบอาการดังที่กล่าวมาขั้นต้นควรรีบพาผู้ป่วยไป
พบแพทย์โดยด่วน เพื่อเป็นการร่วมกันยับยั้งการแพร่ระบาดของ
โรคมือเท้าปาก 
............................................................
(
โรคมือเท้าปาก มหันตภัยร้ายจากคนสู่คน : โดย...ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ   เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ )



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น