วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

หมอชี้กินยา"มาก-ซ้ำซ้อน"สุดอันตราย

เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์
อายุรวัฒน์นานาชาติ ภายใต้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) 
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวแสดงความห่วงใยการบริโภคยา
ที่มากเกินความจำเป็น ว่า ปัจจุบันมียาจำนวนมาก และยาหลายชนิดมีฤทธิ์ซ้ำ
และก้ำกึ่งกัน เช่น ยาลดไข้ก็สามารถแก้ปวดได้ หรือยาละลายลิ่มเลือดก็แก้ปวด
ได้ด้วย ทำให้เกิดปัญหายาเป็นพิษ ปัญหานี้มักพบได้กับคนที่ใช้ยาเยอะอยู่แล้ว 
หรือมียาประจำตัวอยู่แล้ว ต่อไปก็จะเจอปัญหาสับสนกับการใช้ยาเพราะประเทศไทย
จะเข้าสู่สังคมอุดมยา

"กฎข้อห้ามข้อหนึ่งคือการกินยายิ่งมาก ยิ่งเสี่ยงมาก ทั้งพิษจากยาและยาออกฤทธิ์ตีกัน อีกข้อหนึ่งคือ กินยามากไม่ได้ช่วยให้หายมากขึ้น ตรงข้ามอาจทำให้ตับวายมากกว่า" น.พ.กฤษดากล่าว



น.พ.กฤษดากล่าวว่า เพื่อระงับปัญหาจากการกินยามาก เวชศาสตร์อายุรวัฒน์มี 5 เทคนิคจัดโปรแกรมกินยาไม่สับสน แบบง่ายๆ สำหรับคนกินยาเยอะ คือ 1.แยกยาเป็นชนิดเขียนชื่อกำกับไว้ให้ชัดเจน 2.เขียนฉลากโดยเขียนฤทธิ์ยาสั้นๆ ติดไว้ พร้อมวิธีรับประทาน 3.ใช้ตลับแบ่งยา ข้อนี้ช่วยคนกินยาเยอะไม่ให้กินยาซ้ำ เช่น ยาละลายลิ่มเลือดหากกินซ้ำเข้าไปก็อาจทำให้ตกเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 4.พกยาติดตัวไปหาหมอเพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายยาซ้ำ สุดท้ายคือ ขอให้ถามหากสงสัย โดยเฉพาะเรื่องของยาซ้ำ ให้ถามแพทย์หรือเภสัชกร

ผู้อำนวยการศูนย์ เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การรักษาคนไข้ ได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับภาษาทางเคมีและปฏิกิริยาในทางเภสัชวิทยา ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องของการใช้ยา คือ ยาลดความดันกับยาโรคหัวใจ ยากลุ่มนี้มีอยู่มาก บางตัวลดความดันและทำให้หัวใจเต้นช้าลง แต่ถ้ารับประทานผิดคือซ้ำซ้อนจนทำให้มากเกินไปอาจทำให้ หัวใจเต้นช้า มึนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยไม่รู้สาเหตุ ยิ่งกว่านั้นถ้าเป็นภูมิแพ้หอบหืดอยู่จะถึงขั้นหลอดลมตีบเสียชีวิตได้ ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกับยาลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ถูกเรียกให้สับสนว่า “ยาลดไขมัน” เหมือนๆ กัน

การรับประทานที่มากเกินไปและต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้มึนศรีษะ ไม่สบายตัว ปวดตามร่างกายและทำให้ตับทำงานหนักถึงขั้นเสื่อมเร็วได้ ยาแก้ปวดกับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาประเภทนี้มักถูกจ่ายคู่กันซึ่งในหลายครั้งไม่จำเป็นต้องกินควบเลย เพราะการได้รับมากไปใช่ว่าจะทำให้ดีขึ้น หลักง่ายคือห้ามคิดว่า ปวดมากต้องกินยามาก อันนี้จะอันตรายหนักขึ้น

“ยาแก้แพ้กับยาแก้หวัด เป็นยาที่ถูกจ่ายบ่อยมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีหลักง่ายคือ ยาแก้แพ้บางชนิดไม่ใช่ยาแก้หวัด และยาแก้หวัดบางชนิดก็ไม่อาจแก้แพ้ได้ ข้อสำคัญคืออย่าใช้ซ้ำซ้อนกันมาก หากเป็นหวัดไปหาคุณหมอขอให้บอกว่าท่านใช้ยาเหล่านี้อยู่ครับจะได้ไม่ถูกจ่าย ยาซ้ำ ยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ยา 2 ชนิดนี้ไม่ใช่ยาตัวเดียวกันเลย แต่ถูกจับมาเรียกจนคุ้นปากคุ้นหู ขอให้ทราบว่ายาแก้อักเสบมีอยู่กว้างมากและฆ่าเชื้อไม่ได้

ส่วนยาฆ่าเชื้อนั้นก็ใช่ว่าจะแก้อักเสบได้เสมอไป ถ้าใช้ยาฆ่าเชื้อนานไปจะเสี่ยงเชื้อดื้อยา มากขึ้นด้วย ยาคลายเครียดกับยานอนหลับ ยากลุ่มคลายเครียดอาจมีฤทธิ์ง่วงก็จริงแต่ไม่ใช่ยาช่วยให้หลับเพราะยาคลาย เครียดหรือต้านซึมเศร้ามีฤทธิ์ไปกวนสารเคมีในสมองทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ การรับประทานคู่กันจะยิ่งอันตรายต่อเคมีในสมองมากขึ้น

ยาลดไข้กับยาแก้ปวด ท่านที่ทานยาแก้ปวดเป็นประจำอยู่ เมื่อมีไข้ขอให้ระวังการทานยาลดไข้เพิ่ม และให้หยุดยาแก้ปวดก่อน เพราะยาทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ซ้ำซ้อนกันมาก และพิษก็ซ้ำซ้อนกันมากด้วย

ยาโรคกระเพาะกับยาแก้ปวดบิดไส้ เวลาปวดท้องหมออาจจะให้ยาร่วมกันมาทั้ง 2 ชนิด ขอให้ดูให้ดีก่อนรับประทาน หากเป็นโรคกระเพาะไม่มากอาจไม่ต้องกินยาแก้ปวด หรือท่านที่ปวดท้องแต่ไม่แน่ใจว่าจากลำไส้ขอให้เลี่ยงยาแก้ปวดบิดไส้ไว้ก่อนยาช่วยระบายกับยาถ่าย ยกตัวอย่างยาช่วยระบายเช่น ใยอาหาร มะขามแขก ส่วนยาถ่ายคือแบบที่ทำให้ปวดลำไส้ถ่ายเหลวคล้ายท้องเสีย หากรับประทานร่วมกันจะทำให้เกิดอันตรายถ่ายจนถึงขั้นช็อกได้

ยาละลายลิ่มเลือดกับยาช่วยเลือดไหลคล่อง ยาละลายลิ่มเลือดอย่าง “แอสไพริน” ถ้ากินกับยาที่ทำให้เลือดไหลคล่องอย่าง “วาร์ฟาริน” จะทำให้เกิดเลือดออกได้มากหากไม่ระวัง ดังนั้น เทคนิคคือไม่ควรรับประทานร่วมกันและหมั่นเจาะเลือดดูการแข็งตัวของเลือดอยู่เสมอ


ยาสร้างเม็ดเลือดกับยาธาตุเหล็ก ยา 2 ชนิดนี้บางทีถูกจ่ายคู่กัน แม้จะทานร่วมกันได้แต่มันมีพิษโดยเฉพาะกับ “ธาตุเหล็ก” ในกรณีที่โลหิตจางอย่างไม่แน่ใจขอให้เลี่ยงธาตุเหล็กไว้ก่อนเพราะมันเป็นพิษ กับโลหิตจางชนิด “ธาลัสซีเมีย” ส่วนยาสร้างเม็ดเลือดที่เป็น “โฟลิก” นั้นปลอดภัยรับประทานได้ในเลือดจางทุกประเภท

ภาพจากอินเทอร์เน็ตและข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น