กระหึ่มโลกออนไลน์ ใช้ใบทุเรียนเทศทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าเคมีบำบัด ด้านกรมวิทย์ชี้งานวิจัยต่างประเทศช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระได้จริง มีสิทธิต่อยอดเป็นยา แต่มีสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาทและมีผลต่อไต ระบุยังต้องศึกษาอีกมากโดยเฉพาะเรื่องความเป็นพิษ เพื่อนำมาใช้อย่างปลอดภัย
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่สรรพคุณใบทุเรียนเทศสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาเคมีบำบัด จนมีประชาชนสอบถามทางสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทย์ เป็นจำนวนมาก เพราะมีผลิตภัณฑ์จากใบทุเรียนเทศวางจำหน่าย ทั้งแคปซูล ชาชง และแนะนำให้ใช้ร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ว่า ทุเรียนเทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 5-6 เมตร อยู่ในวงศ์เดียวกับน้อยหน่า ถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาเขตร้อน ต่อมามีการนำมาปลูกแพร่หลายในประเทศเขตร้อน ในต่างประเทศมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป สเปนเรียก graviola ภาคใต้ของไทยเรียก ทุเรียนน้ำ ภาคกลางเรียก ทุเรียนแขก ทุเรียนเทศมีผลสีเขียวรูปกลมรี มีหนามนิ่มที่เปลือก รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย คนไทยนำทุเรียนเทศมาประกอบอาหาร ภาคใต้นิยมนำผลอ่อนใช้ทำแกงส้ม เชื่อม และคั้นทำเครื่องดื่ม ส่วนเมล็ดใช้เบื่อปลาและเป็นยาฆ่าแมลงได้ ส่วนใบมีสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ไอ ปวดตามข้อและความดันโลหิตสูง
นพ.อภิชัย กล่าวว่า จากรายงานการวิจัยของต่างประเทศพบว่า สารสกัดจากใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด ตับ ตับอ่อนและผิวหนังในหลอดทดลอง จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดมีฤทธิ์ระงับปวด ต้านการอักเสบ ลดน้ำตาลและไขมันในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้ และมีรายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า สารสกัดด้วยเอทานอลของใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของก้อนเนื้องอกผิวหนัง นอกจากนี้ สารสกัดยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของมะเร็งตับอ่อนและยังสามารถลดการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นได้ด้วย ซึ่งจากการแยกสารสำคัญที่มีอยู่ในทุเรียนเทศที่มีผลต่อเซลล์มะเร็งพบว่า คือ สารกลุ่ม annonaceousacetogenins
“แม้ทุเรียนเทศสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นยารักษามะเร็งหรืออาจใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในอนาคต แต่มีข้อมูลการวิจัยพบว่า มีสารแอนโนนาซินเป็นพิษต่อเซลล์ประสาท นอกจากนี้ ในรายงานการวิจัยของประเทศกานา ยังพบว่า หนูทดลองที่ได้รับสารสกัดใบทุเรียนเทศในปริมาณสูงมีผลต่อการทำงานของไต ดังนั้น การนำทุเรียนเทศมาใช้บำบัดโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ยังต้องผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยอีกมาก เช่น กลไกออกฤทธิ์ต่อเซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง การส่งสัญญาณภายในเซลล์ การแยกสารสำคัญออกฤทธิ์ชนิดต่างๆ การควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงด้านพิษวิทยาและความปลอดภัย” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวและว่า สถาบันวิจัยสมุนไพร กำลังรวบรวมวัตถุดิบใบทุเรียนเทศในไทยมาศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นข้อมูลคุ้มครองผู้บริโภค และวางแผนศึกษาวิจัยเพื่อหาทางนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น