วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้เท่าทันโรคสมองเสื่อม

   คงจะดีไม่น้อย หากสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ผล แต่น่าเสียดายทำได้เพียงชะลออาการเท่านั้น 

        ภาวะสมองเสื่อมอาจค่อยเป็นค่อยไปหรือเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่ไม่ได้รับการรักษา อาจใช้เวลานาน 5-6 ปี แต่ถ้าเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ แตกหรือตัน จะใช้เวลาเป็นเดือน หรือบางรายเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในสมอง ใช้เวลาสั้นเพียง 1-2 สัปดาห์ก็มี 



 นอกจากนี้ โรคทางจิตเวชหลายโรคอาจมีอาการคล้ายโรคสมองเสื่อมได้ เช่น โรคซึมเศร้า และโรคจิต 
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาแยกโรคสมองเสื่อมออกจากผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อ สับสนจากสาเหตุทางกาย 
ซึ่งมักจะรู้สึกตัวไม่ค่อยดี หรือมีการเปลี่ยนแปลงของระดับการรู้สึกตัวในระหว่างวันได้ เช่น อาการสับสน
ที่เกิดขึ้นภายหลังการชัก ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย เป็นต้น

       ในการรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม จะมีทั้งจิตแพทย์ อายุรแพทย์สาขาประสาทวิทยาและสาขาปัจฉิมวัย
ร่วมกัน แต่จะรักษากับใครก่อน ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยจะสะดวกไปพบแพทย์ และจะหายขาดหรือไม่ ต้องดูว่า
โรคสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุใด

       โดยทั่วไปประมาณร้อยละ 15 ของผู้ป่วยสมองเสื่อมอาจสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าสาเหตุนั้นเกิดจาก
ภาวะเลือดคั่งที่ผิวสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว ขาดวิตามิน B ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ 
เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่เกิดจากเยื่อหุ้มสมองบริเวณฐานสมอง หรือลมชักที่ไม่ได้รับการควบคุมรักษาที่ดี
และถูกต้อง ทั้งนี้ ต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทันท่วงทีเพื่อไม่ให้สมองถูกทำลายไปมาก 
และสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ มิเช่นนั้นแล้วอาจหลงเหลืออาการของภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ได้เช่นกัน

       เมื่อตัดสินใจไปรับการรักษา เบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติจากผู้ป่วยและผู้ดูแลใกล้ชิด ตรวจ
ร่างกายและตรวจสภาพจิตใจ (รวมถึงตรวจการทำงานของสมอง) ตรวจเลือด เพื่อแยกว่าผู้ป่วยมีภาวะ
สมองเสื่อมจริงหรือเป็นเพียงอาการหลงลืมตามวัยเท่านั้น และหากมีภาวะหลงลืมจริง สาเหตุนั้นเกิดจาก
อะไร รวมถึงประเมิน ปัญหาในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมร่วมกับประเมินสภาพจิตใจของผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย 
บางรายแพทย์อาจส่งเอกซเรย์สมองด้วยคอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง
เพิ่มเติมประกอบการวินิจฉัยด้วย จากนั้นแพทย์จะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมก่อน 

        หากไม่สามารถรักษาได้ จะแก้ไขด้วยการปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยร่วมกับการให้ยา
ชะลอภาวะสมองเสื่อม และ/หรือให้ยาเพื่อควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม หรือภาวะอื่นทางจิตเวชที่พบในผู้ป่วย
สมองเสื่อมควบคู่กันไป (ในกรณีที่การปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยไม่ได้ผล) อย่างไรก็ตามยัง
ไม่มียาตัวใดในปัจจุบันที่สามารถรักษาภาวะสมองเสื่อมให้หายขาดได้ เป็นเพียงชะลอการดำเนินโรคของ
ภาวะสมองเสื่อมเท่านั้น 
       
       อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีระดับการศึกษาสูง ไม่สูบบุหรี่ มีการใช้ความคิดวางแผนแก้ปัญหา
เป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมบ่อย ๆ 
และตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม เช่น โรคเบาหวาน 
ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง หรือถ้าเป็นโรคดังกล่าวแล้วพบแพทย์สม่ำเสมอ 
เพื่อควบคุมอาการของโรคให้อยู่ในภาวะปกติ ก็อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้

ภาพโดย ผศ.พญ.กอบหทัย สิทธิรณฤทธิ์และข้อมูลจากhttp://www.manager.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น